"หมอธี" ชี้เปิดกว้างภูมิปัญญาท้องถิ่น-ดึงภาคเอกชนจัดหลักสูตรวิชาชีพ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างภายในของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็น 10 สำนัก จาก 25 สำนักนั้น ถือเป็นการปรับเพื่อรวมกลุ่มภารกิจให้มีความชัดเจน โดยแบ่งเป็นกลุ่มปฏิบัติ และกลุ่มสนับสนุนเพื่อเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการปรับโครงสร้างใหญ่ และไม่เพียง สพฐ.เท่านั้นแต่ตนจะลงไปเจาะลึกในองค์กรหลักอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานส่งเสริมการศึกษษนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) จะต้องมีการปรับภารกิจ เพราะ กศน.มีงบประมาณกว่า12,000 ล้านบาท เป็นงบฯ บุคลากร 7,000 กว่าล้านบาท คำถามคือหากต้องการส่งเสริมให้คนเรียนรู้ตลอดชีวิต เงินควรจะอยู่ที่ประชาชน หรืออยู่ที่หน่วยงาน และหาก ศธ.จะดึงมาทำทั้งหมดก็คงไม่ไหว เพราะฉะนั้น กศน.ก็ควรเปิดกว้างให้คนนอก เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาเป็นครูหรือวิทยากรได้มากขึ้น และการจัดการศึกษาควรให้ชุมชนเป็นผู้กำหนด มากกว่าที่เราจะมากำหนดลงไป รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็ต้องมีการปรับเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่การปรับโครงสร้าง เพราะโครงสร้างที่มีอยู่ดีอยู่แล้ว แต่จะเป็นการปรับภารกิจไม่ให้เป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษาของอาชีวศึกษา โดยต้องให้เอกชน หรือสถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้อาจอ้างได้ว่าเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการอาชีวศึกษาอยู่แล้ว แต่ตนต้องการให้เอกชนเข้ามานำ ตั้งแต่การกำหนดหลักสูตร ไม่ใช่ให้รัฐเป็นผู้กำหนด แล้วมีหน้าที่เพียงส่งเด็กไปฝึกงานกับภาคเอกชน แล้วมาจัดสอบและออกใบประกาศนียบัตรให้ ซึ่งสังคมปัจจุบันเป็นแบบเดิมไม่ได้แล้ว "ตอนนี้จะมาบอกว่าใบประกาศฯ ต่าง ๆ ที่ออกมาโดยภาครัฐได้รับการยอมรับมากกว่า ก็ไม่เป็นความจริง เพราะตอนนี้เจ้าของกิจการไม่ได้จ้างงานตามที่รัฐกำหนดวุฒิ แต่เขาจะรับคนข้ามสาขา ขอเพียงให้ทำงานเก่งและมีทักษะตามที่เขาต้องการก็พอ เพราะฉะนั้นเอกชนต้องการคน ไม่ได้ต้องการใบประกาศฯ ดังนั้นผมจะหาโอกาสให้เอกชนเข้ามาพูดคุยกับ สอศ.เพื่อร่วมมือในการทำงานมากขึ้น ตั้งแต่การกำหนดหลักสูตรเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน"นพ.ธีระเกียรติ กล่าว