"เฉลิมชัย" สั่งกรมชลฯ จัดสรรน้ำให้ประชาชนมีน้ำกินใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ ด้านอธิบดีกรมชลฯ ย้ำสำนักชลประทาน ทุกพื้นที่เตรียมพร้อมระดมสรรพกำลังช่วยเหลือประชาชน เมื่อวันที่ 20 ม.ค.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ที่กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ พร้อมกับเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างทั่งถึง ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี         ด้านดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน (20 ม.ค.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 45,416 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 21,608 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,648 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,952 ล้าน ลบ.ม. สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (ระหว่าง 1 พ.ย.62–30 เม.ย.63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน 20 ม.ค. 63) มีการระบายน้ำตามแผนฯ ไปแล้วจำนวน 7,144 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำตามแผนฯไปแล้วจำนวน 2,222 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนจัดสรรน้ำฯ “ได้สั่งการโครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ให้บริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างไรเคร่งครัด พร้อมทั้งร่วมบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำไว้ตามจุดเสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ ที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนและให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ดื่มกินไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว ขณะที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง กรมชลประทาน รายงานแผนและผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2562/63 ในเขตชลประทาน ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 3.10 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 134.21 ของแผนฯ ส่วนลุ่มเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง–ล้านไร่ รณรงค์งดทำนาต่อเนื่องในฤดูแล้ง ปี 2562/63 แต่เพาะปลูกแล้ว 1.76 ล้านไร่ คุณภาพน้ำเฝ้าระวังระดับน้ำเค็ม ในแม่น้ำเจ้าพระยา สถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี มีระดับปกติ ส่วนที่ท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี และท่าน้ำกรมชลประทาน สามเสน ค่าความเค็มสูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวัง ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเค็ม โดยทำการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง สถานีปราจีนบุรี ค่าปกติ แม่น้ำท่าจีน สถานีปากคลองจินดา ปกติ และแม่น้ำแม่กลอง สถานีปากคลองดำเนินสะดวก ปกติ จังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 จํานวน 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครราชสีมา อุตรดิตถ์ ชัยนาท นครสวรรค์ สุโขทัย สุพรรณบุรี พะเยา และสกลนคร รวมทั้งสิ้น 106 อำเภอ 592 ตำบล 2 เทศบาล 5,065 หมู่บ้าน/ชุมชน