มหาดไทยแก้ไขหลักเกณฑ์-อุปสรรคให้บัตรประชาชนคนเฒ่าไร้สัญชาติ นักกฎหมายชื่นชมท่าทีชัดเจน-ชี้ไม่จำเป็นต้องทดสอบความรู้ภาษาไทยเพราะชาวบ้านใช้ภาษาถิ่นไทยอยู่แล้ว วันที่ 19 ม.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกระทรวงมหาดไทย (เพจกระทรวงมหาดไทย PR) ได้เผยแพร่ข้อมูลกรณีกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติเรียกร้องการมีสัญชาติไทย เนื้อหาว่า ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวกรณีผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าและชนเผ่าอื่นในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 50 ปี และได้ยื่นเอกสารขอแปลงสัญชาติ แต่ยังไม่ได้รับการแปลงสัญชาตินั้น กระทรวงมหาดไทย ขอเรียนว่า ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรและมีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว แต่ยังขาดคุณสมบัติบางประการตามหลักเกณฑ์ที่เคยกำหนดไว้ โดยขณะนี้ กรมการปกครองกำลังดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคอยู่ ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน จะสามารถดำเนินการให้สัญชาติกับกลุ่มดังกล่าวได้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่ อำเภอแม่ฟ้าหลวงและอำเภอแม่จัน จ.เชียงราย โดยเชิญสื่อมวลชนจากส่วนกลางและท้องถิ่นในหลายสำนักข่าวมาเก็บข้อมูล ซึ่งพบผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาสถานะบุคคลและได้ยื่นเรื่องขอสัญชาติไปยังอำเภอแล้ว แต่พบกับอุปสรรคหลายประการจนทำให้เกิดความล่าช้าและผู้เฒ่าบางคนเสียชีวิตก่อนจะได้บัตรประชาชน นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพชภ.และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย กล่าวว่า จากการทำงานในกรณีศึกาษ พบผู้เฒ่าไร้สัญชาติใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เป็นกรณีตัวอย่างความสำเร็จ จากความร่วมมือด้วยดีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ครอบครัว ผู้นำชุมชน นายอำเภอ นักวิชาการ อธิบดีกรมการปกครอง โดยพชภ.เป็นผู้ประสานงาน ได้ถ่ายรูปทำบัตรประจำตัวประชาชน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียบราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พศ.2543 (ระเบียบ 43) รวม 15 คน อายุ 65-97 ปี ได้เข้าถึงสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้เดินทางไปเยี่ยมลูกหลานนอกพื้นที่ตามที่ใฝ่ฝันไว้นานแล้ว ทุกคนมีความสุขกับการได้รับสิทธิในฐานะพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์ 2.กลุ่มผู้เฒ่าที่เกิดไทย แต่ถูกบันทึกโดยหน่วยงานรัฐ 2 แห่งด้วยข้อมูลที่ขัดแย้งกัน โดยหน่วยงานที่สำรวจก่อนเมื่อพศ.2530 บันทึกว่าเกิดในประเทศไทย แต่หน่วยงานที่บันทึกพศ2534 บันทึกว่าเกิดในพม่า ซึ่งการขอแก้รายการสถานที่เกิด ยังมีปัญหาเรื่องพยานหลักฐานที่จะใช้ยืนยัน เพื่อให้สำนักทะเบียนอำเภอ ยอมรับและเชื่อถือได้ และ 3.กลุ่มผู้เฒ่าที่เข้ามาอยู่ไทยนาน 30-50 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทย มีลูกหลานที่ได้สัญชาติไทยแล้ว ผู้เฒ่าต้องเข้าสู่กระบวนการการแปลงสัญชาติ ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์ และขั้นตอนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพชีวิต และสังคมของผู้เฒ่า ได้แก่ การตรวจสอบประวัติที่เกี่ยวกับอาชญากรรม ยาเสพติด ความมั่นคงของรัฐ ต้องมีหลักฐานการเสียภาษีต่อเนื่อง (ทั้งที่ไม่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเพราะพ้นวัยแรงงานแล้ว) ต้องสอบความรู้ภาษาไทย ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ผ่านขั้นตอนจากผู้ใหญ่บ้าน ถึงอำเภอ จังหวัด กรมการปกครอง ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย “ขั้นตอนที่ซับซ้อนเหล่านี้ทำให้แทบไม่เห็นวี่แววความสำเร็จในช่วงอายุของผู้เฒ่าได้เลย ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศให้ สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”นางเตือนใจ กล่าว ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสถานะบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงท่าทีของกระทรวงมหาดไทย ว่าประการแรก ไม่เคยเห็นกระทรวงมหาดไทยทำแบบนี้มาก่อน เป็นการประกาศคำมั่นกับภาคประชาชน ซึ่งทำให้ตนอยากเห็นท่าที่ชัดๆ แบบนี้กับทุกเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเปราะบาง ท่าทีของกระทรวงมหาดไทยเป็นการแสดงถึงการรับรู้ปัญหาโดยที่ไม่ต้องรอจดหมายร้องเรียน ถ้อยความของกระทรวงมหาดไทย บอกแนวคิดว่ามีปัญหาที่หลักเกณฑ์ และ บอกว่าจะทำเรื่องนี้ แก้ปัญหานี้ในเวลาไม่ช้า ซึ่งโดยส่วนมากแล้วหนังสือราชการจะไม่บอกในลักษณะนี้ ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวอีกว่าประการที่สอง ตนเองเห็นว่าทีมวิชาการของกรมการปกครองดูแลเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ พศ. 2539 โดยมูลนิธิพชภ. เชิญหารือเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งระเบียบ 43 เป็นการใช้แก้ปัญหาสถานะบุคคลแก่คนในพื้นที่ห่างไกล สำรับบุคคลบนพื้นที่สูง ที่ไม่มีความรู้กฎหมาย สำหรับปัญหาของการแปลงสัญชาติ คือมีหนังสือสั่งการ ออกมาตีความกฎหมายหลัก คือ พรบ. 2454 ที่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ที่มีปัญหาคือมักมีการตีความพรบ. กฎกระทรวง ที่สร้างความเป็นไปไม่ได้ในการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านที่ยากจน และความยาวนานของกระบวนการพบว่า หลายกรณีนำนำไปสู่การคอรับชั่น ซึ่งผู้เฒ่าที่ประสบปัญหาอาจมีฐานะยากจนพอมีพอกิน หรืออาจจะร่ำรวย แต่ความยุติธรรมด้านสัญชาติ คือ คนที่กลมกลืนกับประเทศใดประเทศหนึ่ง (socialization) ก็ความได้รับการปฏิบัติตตาม ซึ่งมีมาตั้งแต่ในสมัย รัชการที่ 5 แต่ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ว่า ตกหล่นตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์ เพราะเรื่องนี้ถูกนำไปผูกกับความมั่นคง “เช่นกรณีพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง กลุ่ม 3 จีน ที่ช่วยรบคอมมิวนิสต์ กลับสามารถแปลงสัญชาติได้ หากเราเข้าใจว่ามันทำได้ ก็ต้องทำได้ ในการแก้ปัญหานี้เราจึงต้องกลับไปสู่ความถูกต้อง ควรค่อยๆ ยกเลิกหนังสือสั่งการที่คลุมเครือและผิดพลาด ไม่ควรรอ” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวอีกว่า กรณีการแปลงสัญชาติของผู้เฒ่าในบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง เป็นกลุ่มชาวบ้านที่เป็นแกนนำหลักในการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ในพื้นที่ต้นน้ำแม่จันแม่สลอง สามารถใช้มาตรา11 วงเล็บ1 ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่าชาวเขากลุ่มนี้ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย นอกจากนี้สิ่งที่ชัดและควรแก้เลย คือการตรวจประวัติอาชญากรรม ไม่ควรซ้ำซ้อน ควรใช้ระบบอีเลคทรอนิก ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทำภายในระยะเวลา 90 วัน อาจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวด้วยว่า ในเรื่องคุณสมบัติการประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน ไม่ควรเรียกร้องใบอนุญาตทำงานของชาวเขา เพราะราชการไม่เคยออกให้ ในกรณีนี้ (บ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง) ควรให้กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงแรงงาน ลงมารับรองการประกอบอาชีพสุจริต และไม่ควรให้ชาวบ้านไปยื่นทำร้อง เพราะกาแฟที่ชาวบ้านปลูกในพื้นที่ป่า พาณิชย์จังหวัดสามารถรับรองได้ การประกอบธุรกิจไม่เกิน 2 ล้านบาท ก็เป็นหน้าที่ของแรงงานจังหวัดที่ลงมารับรอง สำหรับคุณสมบัติการอาศัยอยู่เกิน 5 ปี ที่มีหนังสือสังการว่าให้ถือใบต่างด้าวก่อน ถือเป็นเรื่องผิด การพิจารณาจากทะเบียนบ้าน (ทร 13 หรือ14) สามารถเป็นหลักฐานได้ แต่ปัจจุบันใช้อ้างอิงจากหนังสือสั่งการเก่า และคุณสมบัติสุดท้าย คือการรู้ภาษาไทย เราต้องรู้ว่ามาตรฐานภาษาไทยของคนชาติพันธุ์นั้นต่างกัน ในทางภาษาศาสตร์ ภาษาชาวเขา 9 เผ่าก็เป็นภาษาถิ่นไทย ไม่ต้องเป็นภาษาไทยกลาง เพราะเขาพูดภาษาถิ่นที่เป็นภาษาไทย ก็ใช้ได้แล้ว และเป็นนโยบายแห่งชาติเรื่องภาษาไทย อนุสัญญา อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on Elimination of All Forms of Racial Discrimination หรือย่อว่า CERD) ค.ศ.1965/พ.ศ.2508 “ภาษาชาวเขาไทย ก็เป็นภาษาไทย ดังนั้น การทดสอบภาษาไทยของชาวเขา ก็ไม่ควรเอามาตรฐานของภาษาไทยภาคกลางมาใช้” ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าว