วันที่ 19 ม.ค.63 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การจัดการวิกฤตฝุ่นละออง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม 2563 จากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดการวิกฤติฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานคร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 จากการสำรวจ เมื่อถามถึงการปฏิบัติตัวเมื่อเผชิญปัญหาจากวิกฤตฝุ่นละอองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.98 ระบุว่า สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน รองลงมา ร้อยละ 21.50 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน , ร้อยละ 10.59 ระบุว่า งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง , ร้อยละ 6.61 ระบุว่า ใช้เครื่องฟอกอากาศ , ร้อยละ 5.41 ระบุว่า ปิดประตู-หน้าต่างกันฝุ่น , ร้อยละ 3.66 ระบุว่า ใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ทำอะไรเลย , ร้อยละ 3.50 ระบุว่า ไม่สนใจ เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง ร้อยละ 3.18 ระบุว่า ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ , ร้อยละ 2.23 ระบุว่า ไม่สนใจ เพราะเป็นปัญหาเล็กๆ , ร้อยละ 1.83 ระบุว่า ไม่สนใจ เพราะคิดว่าร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี , ร้อยละ 0.64 ระบุว่า เดินทางไปอยู่ต่างจังหวัดที่ไม่มีฝุ่น , ร้อยละ 0.48 ระบุว่า ไม่ได้ทำอะไร เพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละออง และร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปลูกต้นไม้ ฉีดน้ำบริเวณรอบบ้าน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ซื้อเครื่องตรวจจับค่า pm 2.5 มาใช้ ด้านประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่า ร้อยละ 2.47 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการจัดการแก้ปัญหาที่ดี , ร้อยละ 17.60 ระบุว่า ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เพราะมีการพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่น มีการแจ้งเตือนเขตพื้นที่สีแดง ทำให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ได้เกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐ แต่เป็นที่ตัวบุคคลในการทำให้เกิดฝุ่นละออง ร้อยละ 40.84 ระบุว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังแก้ไขได้ไม่ตรงจุด ทำงานไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง ควรมีมาตรการอย่างจริงจังที่เป็นรูปธรรมในการควบคุม เช่น การก่อสร้าง รถควันดำ หรือผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษ , ร้อยละ 36.22 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย เพราะการจัดการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการตื่นตัว ไม่มีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ไม่มีความชัดเจน ปัญหายังเดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น งานก่อสร้างต่าง ๆ รถประจำทาง/รถส่วนตัวยังมีควันดำ และร้อยละ 2.87 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.57 ระบุว่า ใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการขับรถส่วนตัว รองลงมา ร้อยละ 24.20 ระบุว่า ฉีดน้ำล้างฝุ่นละอองหน้าบ้านตนเอง , ร้อยละ 23.09 ระบุว่า หยุดเผาขยะ ใบไม้ เศษวัสดุ , ร้อยละ 21.66 ระบุว่า ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง เพราะ การใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ทำอะไรหรือสร้างปัญหาอะไรเกี่ยวกับฝุ่น อยู่แต่ที่บ้าน/อาคารไม่ได้ไปไหน ขณะที่บางส่วนระบุว่า เนื่องจากจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวเพื่อไปทำงาน ร้อยละ 16.96 ระบุว่า ดับเครื่องยนต์ ทุกครั้งเวลาจอดรถ , ร้อยละ 8.20 ระบุว่า หยุดการจุดธูป ประทัด , ร้อยละ 7.48 ระบุว่า นำรถไปเข้าอู่เพื่อแก้ไขปัญหาควันดำ , ร้อยละ 2.23 ระบุว่า หยุดการก่อสร้าง และร้อยละ 3.50 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ใช้รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน หรือเดินแทนการใช้รถยนต์ ปลูกต้นไม้ และอยู่บ้านเพื่อลดการใช้รถ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ลดการใช้รถที่เติมน้ำมันดีเซล เปลี่ยนมาใช้รถที่เติมน้ำมันเบนซิน หรือ E20 แทน