ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยานได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitte โดยมีเนื้อหาดังนี้ เป็นข่าวเกรียวกราวขึ้นมาเมื่อ ส.ส.คนหนึ่งเสนอให้ตั้งชื่อสะพานเชื่อมเกาะสมุยว่า “สะพานจันทร์โอชา” ถือว่าเป็นการมองข้ามปัญหาต่างๆ นานาที่มีมากมายในการผลักดันให้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ผมได้เสนอให้มีการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุยโดยได้โพสต์บทความเรื่อง “สะพานเชื่อมเกาะสมุย เสริมเขี้ยวเล็บท่องเที่ยวไทย” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปเกาะสมุย เนื่องจากหากเดินทางโดยเครื่องบินไปสู่เกาะสมุยโดยตรงจะเสียค่าโดยสารแพง หากเลือกเดินทางด้วยรถยนต์จะต้องลงเรือหรือเฟอร์รี่ที่ท่าเรือดอนสักเพื่อข้ามไปเกาะสมุย ซึ่งเสียค่าเดินทางถูกกว่า แต่เสียเวลานานกว่า อีกทั้งในช่วงเทศกาลสำคัญจะต้องรอเฟอร์รี่นานมาก เพราะมีผู้โดยสารหนาแน่น ความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเกาะสมุยที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือการเจ็บไข้ได้ป่วย ในกรณีเกินขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในเกาะสมุย จำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งมีศักยภาพสูงกว่าในพื้นที่ใกล้เคียง หากมีสะพานเชื่อมเกาะสมุยจะทำให้การส่งต่อผู้ป่วยดำเนินไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รูปแบบสะพานที่ผมเสนอคือสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ดังเช่น สะพานพระราม 8 สะพานพระราม 9 สะพานภูมิพล และสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ เป็นต้น โดยมีความยาวประมาณ 18 กิโลเมตร มี 4 ช่องจราจร ใช้วงเงินก่อสร้างประมาณ 45,000 ล้านบาท การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ดังเช่นสะพานข้ามทะเล หรือสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หากนับเวลาตั้งแต่เริ่มการศึกษาความเหมาะสมไปจนถึงเปิดให้บริการต้องใช้เวลานานมาก ในกรณีของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งมีความยาวประมาณ 300-500 เมตร ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ยกเว้นเพียงสะพานเดียวเท่านั้นที่ใช้เวลาน้อยกว่า 10 ปี นั่นคือสะพานพระราม 8 ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 7 ปี เท่านั้น สะพานพระราม 8 เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยในวันที่ 15 กรกฎาคม 2538 พระองค์ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาแผนผังแนวสะพานให้กรุงเทพมหานครรับไปศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของการก่อสร้างสะพาน เพื่อคลี่คลายวิกฤตจราจรบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี ฝั่งธนบุรี ต่อเนื่องไปยังถนนราชดำเนิน ฝั่งพระนคร อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อของสะพานแห่งใหม่นี้ว่า “สะพานพระราม 8” พระองค์ทรงเป็นประธานในพิธีเปิด “สะพานพระราม 8” อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 กันยายน 2545 ดังนั้น รวมเวลาในการพัฒนาโครงการก่อสร้างสะพานพระราม 8 ทั้งหมด 7 ปีเศษ ยังมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบางสะพานที่ทำการศึกษาความเหมาะสมเสร็จเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ เช่นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสี่พระยา และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ใกล้กับอาคารรัฐสภาใหม่ เป็นต้น เนื่องจากมีปัญหาต่างๆ นานา ในกรณีของโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย หากรัฐบาลต้องการผลักดันอย่างจริงจัง นับจากนี้ไปจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ดังนั้น ถ้ามุ่งมั่นที่จะทำให้โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุยเป็นรูปธรรมจริง ผมขอเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งจัดสรรงบประมาณมาทำการศึกษาความเหมาะสม และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นของประชาชนคนสมุยและพื้นที่ใกล้เคียง เลิกเถียงกันเรื่องชื่อสะพานเสียที รอให้มีการเริ่มก่อสร้าง แล้วค่อยคิดตั้งชื่อ โดยสรุป “เร่งหางบ เลิกถกเรื่องชื่อ”