ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : ยลภาพเทพชุมนุม ศิลปะไทยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หนึ่งในพระที่นั่งสำคัญของพระราชวังบวรสถานมงคล “วังหน้า” ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปประจำวังหน้า ในอดีตสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงมีพระประสงค์ให้พระที่นั่งแห่งนี้ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ทุกวันนี้กรมศิลปากรยังคงได้ใช้เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา บำเพ็ญกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่สักการะพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปต่างๆ ที่ประดิษฐานไว้บนฐานบุษบก พร้อมๆ กับเป็นห้องจัดแสดง ตู้พระธรรมลายรดน้ำ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนเรื่องพุทธประวัติบริเวณผนังข้างหน้าต่างประตู ภาพเทพชุมนุม ภาพนักสิทธิ์และวิทยาธรที่อยู่เหนือขึ้นไปของฝาผนัง ในที่นี้จึงนำเกร็ดความรู้ภาพเทพชุมนุมในพระที่นั่งแห่งนี้ คัดจากเรื่องการสร้างตาลปัตรชุด “เทพชุมนุม” ที่รฤกพระราชวังบวรสถานมงคล พุทธศักราช 2550 สมชาย ณ นครพนม และ เกียรติศักดิ์ สุวรรรพงศ์ ในนิตยสารศิลปากร ฉ.มกราคม–กุมภาพันธ์ ปีที่ 60 ได้อธิบายภาพเทพชุมชน นำมาบางตอนเป็นเกร็ดความรู้เผยแพร่อีกทอดนึง เผื่อว่าบางท่านสนใจและได้ไปสักการะพระพุทธสิหิงค์ พร้อมชมภาพเทพชุมนุม ภาพเทพชุมนุมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นงานจิตรกรรมฝาผนังของศิลปะไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คงเขียนขึ้นแต่ครั้งแรกสร้างพระที่นั่งหลังนี้ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อพ.ศ.2338 โดยรูปแบบทางศิลปะบนจิตรกรรมฝาผนังยังคงเห็นถึงรูปแบบของศิลปะอยุธยาที่ถ่ายทอดมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในครั้งนั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาจากเชียงใหม่มาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งนี้ ทรงให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แล้วให้ชื่อพระที่นั่งว่า “พระที่นั่งพุทธาสวรรย์” ในเอกสารบางเล่มเรียกชื่อเดิมว่า “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์” สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ในรัชกาลที่ 3 มีการปฏิสังขรณ์พระที่นั่งครั้งใหญ่ ดังปรากฏลักษณะสถาปัตยกรรมที่เห็นในปัจจุบัน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนชื่อพระที่นั่งใหม่เป็น “พระที่นั่งพุทไธสวรรย์” พระที่นั่งนี้ได้รับการบูรณะมาเป็นระยะๆ และซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพเทพชุมนุม ครั้งหลังสุดปี 2560 ภายใต้โครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภาพเทพชุมนุมมีทั้งหมด 400 องค์ ภาพเหล่าเทพทั้งหลายนั่งเรียงแถวซ้อนกัน 4 ชั้น โดยรอบผนังทั้ง 4 ด้าน แต่ละชั้นคั่นด้วยลายประจำยามก้ามปู ไล่เรียงจากชั้นล่างหรือชั้นที 1 เป็นเทพหรือเทวดาในสวรรค์ชั้นมหาราชิกา เป็นชั้นที่อยู่ใกล้โลกมนุษย์ที่สุด เทพในชั้นนี้จะเป็นจตุโลกบาลหรือเทพผู้รักษาโลกในทิศทั้ง 4 คือ ท้าวธตรฐเป็นใหญ่ทางทิศตะวันออกและปกครองคนธรรพ์ วิทยาธร กุมภัณฑ์ ท้าววิรุฬหกเป็นใหญ่ทางทิศใต้และปกครองพวกครุฑ ท้าววิรูปักษ์ผู้เป็นใหญ่ทางทิศตะวันออก ปกครองพวกนาค และท้าวเวสสุวรรณเป็นใหญ่ทางทิศเหนือ ปกครองพวกยักษ์ ทุกองค์อยู่ในท่านั่งบนพื้นหลังสีแดง ในชั้นนี้จึงปรากฏภาพเทพ ครุฑ นาคและยักษ์สลับกันไป นอกจากนั้นยังมีภาพกินนร ภาพฤาษีหรือวิทยาธรแทรกอยู่ในแถวข้างประตูกลางด้านตะวันออกด้วย และเฉพาะผนังด้านตะวันออกเหนือประตูกลาง เขียนเป็นภาพขนาดเล็กเป็นภาพเจดีย์ทุสเจดีย์ มีพระพรหม 2 องค์ นั่งประนมกรหันหน้าเข้าหากัน ส่วนที่อยู่เหนือประตูด้านหลังพระประธานเขียนเป็นภาพเจดีย์จุฬามณี มีพระอินทร์ 2 องค์นั่งประนมกรหันหน้าเข้าหาพระเจดีย์ ส่วนเทพชุมนุมในชั้นที่ 2 ลงสีพื้นหลังสีดำ เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นยามา ซึ่งชั้นดาวดึงส์นั้นมีพระอินทร์เป็นใหญ่ และชั้นที่ 3 พื้นหลังสีแดงเป็นสวรรค์ชั้นดุสิตและชั้นนิมมานรดี โดยเขียนเป็นภาพเทพทั้งหมด สลับกันทั้งหน้าด้านข้างและหน้าเสี้ยว ส่วนชั้นที่ 4 เป็นสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี เป็นภาพของพระพรหมบนพื้นสีดำ ในช่องระหว่างเทพในทุกชั้น เป็นพุ่มดอกไม้พุทธบูชาหรือพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ โดยชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 เป็นลายช่อดอกไม้ ส่วนชั้นที่ 2 และชั้นที่ 4 เป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ มีก้านตั้งตรงยาวจรดพื้นที่เหล่าทวยเทพนั่งอยู่ ส่วนชั้นบนสุดเหนือเส้นสินเทาแบบหยักฟันปลา ไปจนจรดเพดานและลงพื้นเป็นสีฟ้า เป็นภาพเหล่า นักสิทธิ์และวิทยาธร เกือบทุกตนที่มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ แต่อีกข้างหนึ่งถือช่อดอกไม้เพื่อมาเป็นพุทธบูชา ทั้งหมดแสดงท่าทางเหาะเหินอยู่บนท้องฟ้าหรือสวรรค์ เส้นสินเทาที่กล่าวถึงนี้ ใช้ในการแบ่งเหตุการณ์ของภาพจิตรกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดรูปแบบของจิตรกรรมที่นิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ภาพเทพชุมนุมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ยังได้ถูกนำมาบรรจงเขียนภาพในการสร้างตาลปัตรชุด “เทพชุมนุม” เพื่อใช้ในงานพิธีทางศาสนาของวังหน้าโดยเฉพาะอีกด้วย