วันที่ 17 มกราคม 2563 เวลา 18.00 น.ที่ ปะรำพิธี หมู่บ้านบ่อสร้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เทศบาลเมืองต้นเปาจัดพิธีเปิดงานเทศกาลท่องเที่ยวเมืองต้นเปา จัดงานในครั้งนี้ มีขบวนรถประดับด้วยร่ม กระดาษสาและโคม จำนวน 4 ขบวน มีริ้วขบวนการแสดงวัฒนรรมต่างๆ ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชาวบ้าน 10 หมู่บ้านในตำบลต้นเปา และหลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิด ขบวนรถ ทั้ง 4 ขบวน จะจอดตามจุดต่างๆในหมู่บ้านบ่อสร้าง ให้นักท่องเที่ยวได้มาถ่ายรูปกันไฮไลท์ที่สำคัญในการจัดงาน ในปีนี้ ได้แก่ ขบวนแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง จะมีการปั่นโชว์วันละ 2 รอบ ในเวลา 10.00 น.และ 14.00 น.ของทุกวัน ในระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2563 การเที่ยวชมงานในครั้งนี้ เทศบาลเมืองต้นเปา จะมีรถรางคอยบริการนักท่องเที่ยว ไปยังจุดต่างๆ ที่มีการจัดงาน โดยรถรางจะวิ่งจาก งานเทศกาลร่มบ่อสร้างฯ ณ หมู่บ้านบ่อสร้าง จากนั้นจะพาไปชมการทำกระดาษสา ในงานมหัศจรรย์ล้านนาเมืองกระดาษสาบ้านต้นเปา ณ หมู่บ้านต้นเปา และพาไปชมการสาธิตการผลิตโคมประเภทต่างๆ ในงานมหกรรมโคมบ้านหนองโค้งและหัตถกรรมสันกำแพง ณ หมู่บ้านหนองโค้ง หลังจากนั้น จะพากลับมายังหมู่บ้านบ่อสร้าง ตำบลต้นเปา เป็นตำบลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งของงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านประเภทต่างๆ ทั้งงานทอผ้า งานแกะสลักและผลิตภัณฑ์จากไม้ งานจักสาน งานศิลปะกระดาษสา งานโคม และงานร่มบ่อสร้าง เป็นต้น ถือเป็นเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในตำบลต้นเปา เป็นอาชีพหลักของราษฎรในท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพด้านนี้มาช้านาน และหมู่บ้านบ่อสร้าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองต้นเปา มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมทั่วโลก ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันหลายแห่งในพื้นที่ตำบลต้นเปา ประสบกับสภาวะเศรษฐกิจซบเซา การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นักท่องเที่ยวน้อย ส่งผลให้อาชีพการทำหัตถกรรมต่างๆในพื้นที่เริ่มลดลง ร้านค้าปิดตัวลงเรื่อยๆ จากปัญหาดังกล่าว เทศบาลเมืองต้นเปา จึงได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหา และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองต้นเปา ประจำปี 2563 ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมและศิลปะหัตถกรรมให้คงอยู่สืบไป และกำหนดจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองต้นเปา พร้อมกันในระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2563 ในพื้นที่ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้ การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของล้านนาตลอดจนสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอย่างต่อเนื่อง 2.เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของประชาชน 3.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้เชื่อมโยงกับสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยนำเอาแนวทางเศรษฐกิจชุมชนมาเป็นหลัก ทำให้ราษฎรมีงานทำอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.เพื่อสนับสนุนให้ท้องถิ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม เป็นการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้มาชมแหล่งที่ผลิตหัตถกรรมโดยตรง