วันที่ 17 ม.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มศึกษานิเทศก์ (ศน.) บุคลากรกลุ่มตรวจสอบภายใน (ตสน.) และบุคลากรกลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา (ICT) จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ กว่า 1,000 คน แต่งชุดดำเข้ายื่นหนังสือ ถึง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลัก เพื่อคัดค้าน การถ่ายโอน ศน. ภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ถือเป็นวันที่ 2 ในรอบสัปดาห์ นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) เปิดเผยว่า สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย และชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ชมรมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย ตลอดจนพี่น้องบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค(2) ไม่เห็นด้วยและจะขอคัดค้านจนถึงที่สุด เพราะข้อเสนอดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยขาดหลักธรรมาภิบาล อาศัยอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้บริหารองค์กรหลัก ไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมพิจารณาและข้อเสนอแนวทางนี้เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ต้องการทำลายเขตพื้นที่ฯ ให้อ่อนแอ เพื่อไปสร้างความเข้มแข็งให้กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริง คุณภาพการศึกษาจะบังเกิดผลได้ก็โดยการปฏิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นสำคัญซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่กำกับติดตาม ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียน และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาในสังกัด ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาชาติ โดยมีศึกษานิเทศก์ และกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันโดยตรง ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้ถ้าคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคให้ความเห็นชอบ ก็คือความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของการปฏิรูปการศึกษาจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสพท. ดังนี้ 1. นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดศธ. ยุติบทบาทการจัดทำข้อเสนอปรับโครงสร้าง ให้รอจนกว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดำเนินการที่ส่อไปในทางที่สร้างความอ่อนแอให้กับสพท. 2. การปฏิรูปโครงสร้างของศธ.ให้ใช้รูปแบบกระจายอำนาจถึงหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ให้มากที่สุด ให้คงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)จำนวน 183 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) จำนวน 77 เขต รวม 260 เขตพื้นที่ โดยไม่มีการโอนย้ายกลุ่มใด ไปยังหน่วยงานการศึกษาอื่น 3.จัดตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อ.ก.ค.ศ.สพฐ.) และตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัด(อ.ก.ค.ศ.จังหวัด) โดยให้รับผิดชอบการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานการศึกษาในเขตพื้นที่ฯ 4. เร่งดำเนินการออกพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5 ) เป็นการเฉพาะกิจ โดยให้มีสาระสำคัญให้แก้ไขปรับปรุงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 16/2560 และคำสั่งคสช ที่ 17/2560 5.กำหนดให้บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค(2) ให้เป็นข้าราชการครูสายงานสนับสนุนการสอนและให้ใช้บัญชีเงินเดือน เงินวิทยฐานะ หรือเงินคำตอบแทนอื่น เช่นเดียวกันกับข้าราชการครูสายงานการสอน 6.ให้รีบประกาศจัดตั้งสพม.ให้ครบทุกจังหวัดโดยเร็ว และ7.เพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษาจึงเห็นควรให้ศึกษานิเทศก์ ศธจ. กลับคืนสพท. ทั้งนี้จะได้มาช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา นายธนชน กล่าวอีกว่า เพื่อประโยชน์ของเด็ก และเยาวชนของชาติ ไม่ให้รับผลกระทบที่เกิดจากการโอนย้ายบุคลากรดังกล่าว จึงเรียกร้องให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) ยกเลิกกาจัดทำข้อเสนอดังกล่าวนี้ แต่หากยังดันทุรังที่จะดำเนินการต่อไป ครูพร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย จะยกระดับการเรียกร้องและใช้มาตรการที่เข้มข้นต่อไป