สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ระบุ “The Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory (LIGO) และ Virgo ได้รายงานผลการตรวจพบสัญญาณที่อาจจะบ่งชี้ถึงคลื่นความโน้มถ่วงที่มาจากตำแหน่งใกล้เคียงกับตำแหน่งของดาวบีเทลจุส ในกลุ่มดาวนายพราน LIGO นั้นเป็นเครื่องตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วง ที่เคยสร้างข่าวดังในปี 2016 ที่มีการค้นพบการชนกันของหลุมดำเป็นครั้งแรก [3] และยังได้ค้นพบการชนกันของดาวนิวตรอน และหลุมดำอื่นๆ อีกในเวลาต่อมา และในครั้งนี้ LIGO ก็ได้ค้นพบสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วงอีกแหล่งหนึ่ง และล่าสุดในอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ก็ได้พบกับสัญญาณ "burst" ของคลื่นความโน้มถ่วง ที่มีชื่อว่า S200114f แต่สิ่งที่ทำให้การค้นพบครั้งนี้น่าตื่นเต้นมากกว่าปรกติ ก็คือตำแหน่งแหล่งที่มาของคลื่นความโน้มถ่วงบนท้องฟ้า ที่ไม่แน่ใจว่าบังเอิญหรือไม่ที่ไปอยู่ใกล้กับตำแหน่งของดาวบีเทลจุสพอดี จากโพสต์ที่เคยโพสต์เอาไว้เมื่อวันก่อน ดาวบีเทลจุสเป็นดาวยักษ์แดงขนาดใหญ่เท่าวงจรดาวพฤหัส ที่อยู่ดีๆ ก็เกิดการหรี่ลงในระดับที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า จนปัจจุบันไม่ติด 20 อันดับดาวสว่างที่สุดบนท้องฟ้าอีกต่อไป และยังมีแนวโน้มที่เหมือนจะหรี่ลงไปอีกด้วย ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับสัญญาณว่าอายุขัยของมันใกล้จะจบลง [2] นอกไปจากนี้ การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่มาจากเหตุการณ์การชนกันของวัตถุที่มีความหนาแน่นสูง เช่น ดาวนิวตรอน หรือหลุมดำ แต่ burst gravitational wave นั้นยังไม่เคยมีการยืนยันมาก่อน ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า burst gravitational wave นั้นอาจจะเกิดขึ้นจากการระเบิดของรังสีแกมม่า หรือซูเปอร์โนว่า ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกับที่ดาวบีเทลจุสจะต้องพบสักวันหนึ่งภายในหนึ่งแสนปีข้างหน้านี้ เมื่อนำสองเรื่องนี้มารวมกัน เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า สัญญาณคลื่นความโน้มถ่วงนั้นอาจจะมาจากการยุบตัวลงของดาวบีเทลจุสหรือไม่? แน่นอนว่าถ้าทั้งสองเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกัน ไม่เพียงแต่จะหมายความว่าเรากำลังจะได้เห็นซูเปอร์โนวาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอันหนึ่งในมวลมนุษยชาติ แต่การตรวจพบการเกิดซูเปอร์โนวาก่อนการระเบิดจริงจะทำให้นี่เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อีกด้วย ...อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มเฉลิมฉลองกัน ก็ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่าโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้นั้นมีอยู่น้อยมาก เนื่องจาก 1) เรายังไม่ทราบว่า burst นี้มีอยู่จริงหรือไม่ สัญญาณ gravitational wave นั้นปรกติอ่อนมากๆ และถึงแม้ว่าสัญญาณที่พบในครั้งนี้นั้นจะมีนัยะสำคัญทางสถิติ แต่กระนั้นก็ตาม ด้วยขีดจำกัดของ LIGO ทำให้เราประมาณการว่าเราอาจจะพบสัญญาณ false positive แบบที่ตรวจพบนี้อยู่ในอัตราประมาณหนึ่งครั้งทุกๆ 25 ปี 2) ถึงแม้ว่าตำแหน่งบนท้องฟ้าที่เกิดนี้อาจจะใกล้เคียงกับดาวบีเทลจุส แต่ก็ไม่ได้ตรงกันพอดี ทั้งนี้ ภาพที่เราเห็นจากโลกของเรานั้นเป็นเพียงภาพสามมิติ เรายืนยันได้เพียงทิศทางที่มาของคลื่นความโน้มถ่วง แต่เราไม่สามารถทราบได้ว่าแหล่งกำเนิดนั้นอยู่ในระยะห่างที่ไกลเพียงใด และสอดคล้องกับดาวบีเทลจุสหรือไม่ 3) ระยะเวลาของ burst ที่เกิดขึ้นน่าจะสั้นเกินไปที่จะเป็น supernova ระดับเดียวกับดาวบีเทลจุสระเบิด 4) โมเดลปัจจุบันบ่งชี้ว่าดาวบีเทลจุสน่าจะยังไม่ระเบิด "เร็วๆ นี้" (แต่น่าจะภายในหนึ่งแสนปีนี้) 5) ยังไม่มีการตรวจพบนิวตริโน ดังเช่นที่มีการพบทั่วๆ ไปในซูเปอร์โนวาครั้งก่อนๆ ซึ่งนิวตริโนนั้นสามารถเดินทางมาถึงก่อนที่แสงของการระเบิดจะมาถึง 2-3 ชั่วโมง 6) ปัจจุบันเรามีคำอธิบายถึงการหรี่ลงของดาวบีเทลจุสที่ดีพออยู่แล้ว และการหรี่ลงไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับการระเบิดหรือสิ้นสุดอายุขัยของดาว ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากๆ ที่สัญญาณทั้งสองจะเกี่ยวข้องกัน และดาวบีเทลจุสกำลังจะระเบิด ...แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้นักดาราศาสตร์หยุดเดินออกไปเช็คดูว่าดาวบีเทลจุสยังอยู่บนท้องฟ้าหรือไม่ และถึงแม้นักดาราศาสตร์จะเชื่อว่า "มันยังไม่ระเบิดหรอก" แต่หลายคนก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า "แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว..." เอาเป็นว่าคืนนี้ถ้าฟ้าใส ใครอยากจะแหงนหน้ามองขึ้นฟ้าหาดาวสีส้มบนหัวไหล่ข้างขวาของกลุ่มดาวนายพราน ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขาก็แล้วกัน แต่ผมคนหนึ่งล่ะ ที่จะต้องออกไปดูแน่ๆ อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม: [1]https://earthsky.org/…/ligo-gravitational-wave-burst-near-b… [2] https://www.facebook.com/…/a.255101608033…/1177837022426502/ [3] https://www.facebook.com/…/a.2551016080333…/427749910768554/ Cr. มติพล ตั้งมติธรรม" ภาพจาก https://earthsky.org/…/ligo-gravitational-wave-burst-near-b…