ส่งสัญญาณแสดงจุดยืนว่าถึงเวลาหวนคืนสู่ภูมิภาคแปซิฟิกกันอีกคำรบ สำหรับ “ทัพพญาอินทรี” หรือ “กองทัพสหรัฐอเมริกา” ในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 2020 ที่กำลังคืบคลานย่างเข้ามานับจากนี้เป็นต้นไป โดยเป็นการเปิดเผยจาก “พล.อ.มาร์ก เอ. มิลเลย์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ประธานเสนาธิการทหารร่วมแห่งกองทัพสหรัฐฯ” ที่กล่าวกัคณะผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์นี้ว่า กองทัพสหรัฐฯ จะเบนเข็มจากภูมิภาคแอฟริกา มุ่งไปยังภูมิภาคแปซิฟิกแทนที่ พร้อมกันนี้ พล.อ.มิลเลย์ ยังระบุด้วยว่า คณะนายทหารระดับสูงของกองทัพได้หารือกับนายมาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ต่อกรณีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งการหารือได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา นับแต่ที่นายเอสเปอร์ เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงเพนตากอนเมื่อปีที่แล้ว ก่อนจะมาถกกันอย่างเข้มข้นและได้บทสรุปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคแอฟริกาจะหยุดภารกิจในปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในอนาคตอันใกล้ แล้วจะเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการไปประจำการในภูมิภาคแปซิฟิกแทน รวมถึงในภาคพื้นทวีปสหรัฐฯ ด้วย ที่มาที่ไปอันทำให้ทั้งบิ๊กบอสของเพนตากอน ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกกับบรรดาแม่ทัพนายกองของเมืองลุงแซม ก็มาจากเหตุปัจจัยหลายประการด้วยกัน ไล่ไปตั้งแต่ผลการศึกษาวิจัยของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ด้านแอฟริกาของสหรัฐฯ หรือเอซีเอสเอส ที่มีรายงานเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่ทางการสหรัฐฯ ส่งกองทัพเข้าไปยังภูมิภาคแอฟริกา ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่แล้วมาก่อนหน้า เพื่อทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ปรากฏว่า สถานการณ์ก่อการร้ายในภูมิภาคแอฟริกา ก็หาได้ลดน้อยถอยลงไปไม่ แต่สถานการณ์กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น “เอซีเอสเอส” ยังระบุด้วยว่า แม้กองทัพสหรัฐฯ กรีธาทัพ และเติมกำลังพลเข้าไปในภูมิภาคแอฟริกา เพื่อปราบปรามพวกก่อการร้าย แต่ปรากฏว่า ความรุนแรงอันเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับขบวนการก่อการร้ายต่างๆ กลับเพิ่มขึ้น และปฏิบัติการจากบรรดากลุ่มติดอาวุธของขบวนการก่อการร้ายก็เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขของเมื่อปี 2012 (พ.ศ. 2525) ผลศึกษาของ “เอซีเอสเอส” ยังเผยด้วยว่า เมื่อปี 2015 ในภูมิภาคแอฟริกามีกลุ่มติดอาวุธเครือข่ายของขบวนการก่อการร้ายต่าๆ เพียง 5 กลุ่ม แต่หลังจากนั้นนับตั้งแต่สหรัฐฯ ส่งกองทัพเข้าไปปราบปราม ปรากฏว่า กลุ่มติดอาวุธจำนวนมากขึ้นกว่า 20 กลุ่ม ซึ่งบรรดากลุ่มติดอาวุธเครือข่ายขบวนการก่อการร้ายต่างๆ เหล่านี้ เช่น “อัล – ชาบาบ” เป็นต้น ได้มีปฏิบัติการก่อการร้ายโจมตีเป้าหมายต่างๆ ใน 13 ชาติแอฟริกา ตั้งแต่ชาติแอฟริกาทางฝั่งตะวันตก จรดไปทางฟากตะวันออกของทวีปเลยทีเดียว เรียกว่า ส่งทหารไปกำราบปราบปรามเท่าไหร่ ปัญหาก่อการร้ายก็ไม่ทุเลา เข้าทำนองที่ว่า ยิ่งตียิ่งโต ก็ส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องปรับทัพกันใหม่ นอกจากผลการศึกษาดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีปัจจัยเรื่องยุทธศาสตร์ใหม่ของรัสเซียและจีนแผ่นดินใหญ่ ที่หันมุ่งเน้นขยายอิทธิพลในภูมิภาคแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรุกครั้งใหญ่ของพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ จนมีปัญหาพิพาทกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เช่น กับญี่ปุ่น ในทะเลจีนตะวันออก และกับเหล่าชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทะเลจีนใต้ ล่าสุด ก็ลามไปถึงหมู่เกาะนาทูนา ของอินโดนีเซีย ที่จีนแผ่นดินใหญ่หมายจะได้ครอบครอง ด้วยประการฉะนี้ จึงส่งผลให้สหรัฐฯ ในการนำของเพนตากอน ต้องเตรียมนำทัพกลับคืนสู่ภูมิภาคแปซิฟิกอย่างเข้มข้นขึ้น หลังจากที่เคยมาตรึงทัพในภูมิภาคแปซิฟิกแห่งนี้นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนสิ้นสุดยุคสงครามเย็น ก่อนที่หันเหไปทางตะวันออกกลางและแอฟริกา ตั้งแต่ปลายคริสต์ศวรรษที่แล้ว โดยการหวนคืนสู่แปซิฟิกที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทางเพนตากอน ก็ส่งสัญญาณมาว่า จะต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทหารกับชาติพันธมิตและชาติที่เป็นหุ้นส่วนของสหรัฐฯ เฉกเช่นแต่เก่าก่อนด้วย เพื่อหวังความร่วมมือทางการทหารเป็นประการต่างๆ กับบรรดาชาติเหล่านี้ในอนาคตอันใกล้ด้วย อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะหันไปทางภูมิภาคแปซิฟิกครั้งนี้ ก็สร้างความตกตะลึงพรึงเพริดให้แก่เหล่าชาติในแอฟริกา และประเทศพันธมิตร เช่น ฝรั่งเศส ที่เคยร่วมทำสงครามกำราบการก่อการร้ายในภูมิภาคแห่งนั้นร่วมกัน ให้ต้องจัดทัพปรับกระบวนพลต่อสู้กับขบวนการก่อการร้ายกันใหม่