ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ประเด็นคำถามนี้มุ่งที่จะให้คนไทยทั้งชนชั้นปกครอง และชนชั้นใต้ปกครองได้ตื่นตัวและประเมินสถานการณ์ว่า สถานภาพของประเทศไทยนั้นในมุมมองต่างๆ ของปัจเจกชน ตลอดจนนักวิชาการ มีความเห็นอย่างไรหากว่ามันมีทิศทางไปสู่ความเป็นรัฐล้มเหลว (Fail State) เราก็คงต้องมาร่วมมือกันในการหักเหทิศทาง เพื่อไม่ให้ประเทศไทยจมดิ่งไปสู่การเป็นรัฐล้มเหลว ก่อนที่จะพูดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มาทำความเข้าใจถึงความหมายของรัฐล้มเหลวโดยสังเขปดังนี้ รัฐล้มเหลว คือ รัฐที่ไม่อาจบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบการเมืองอ่อนแอ ข้าราชการเพิกเฉย หรือเฉื่อยชาในการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาล มีการคอร์รัปชั่นแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ทั้งในระดับบน ผู้บริหาร ฝ่ายการเมือง นักธุรกิจ ตลอดจนข้าราชการ เกิดความรุนแรงตั้งแต่ระดับอ่อนจนถึงขั้นจลาจล โดยรัฐบาลไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ ส่วนสาเหตุของการเกิดสภาพรัฐล้มเหลวนั้นอาจแยกเป็นประเด็นได้ 17 ประเด็น คือ 1.ด้านสังคม 1.1 ปัญหาด้านการศึกษา ซึ่งรัฐบาลไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และสังคมในประเทศ จึงไม่อาจสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้ออกมาตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดพลวัตรในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว เร่งรีบ และรุนแรง และไม่สามารถสร้างประชากรให้มีคุณภาพทั้งความรู้ คุณธรรม และจิตสำนึกต่อส่วนรวมได้ 1.2 แรงกดดันด้านประชากรศาสตร์ เช่น โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนแปลงไป มีคนสูงอายุมากขึ้น อัตราการเกิดน้อยลง ขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ทำให้ขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาดในการบริโภค ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม โรคระบาด ซึ่งรัฐบาลไม่อาจจัดการได้อย่างเป็นระบบ 1.3 การย้ายถิ่นฐานของประชากร ซึ่งอาจจะเกิดได้ทั้ง 2 ทาง คือ การอพยพออกจากประเทศ เพราะความลำบากยากแค้น หรือความรุนแรงจากการสู้รบ หรือการอพยพเข้าเนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานภายในหรือต่างชาติเจตนาส่งคนเข้ามา เพื่อระบายประชากรของตน ทำให้สัดส่วนของประชากรที่มิใช่คนในประเทศเปลี่ยนแปลงไป เกิดปัญหาในการบริหารจัดการของรัฐบาล 1.4 เกิดปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มชนต่างๆ เช่น ความขัดแย้งทางความคิดทางการเมือง การแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ ความรู้สึกด้านชาตินิยมที่รุนแรง ความขัดแย้งด้านศาสนาแบบสุดโต่ง ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถลดทอนหรือสร้างสรรค์ให้ความขัดแย้งเป็นไปในทางที่จะสร้างพลังทางบวกได้ 1.5 เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีการเลือกปฏิบัติ หรือมีการบิดเบือนตีความของกฎหมายจนไม่คำนึงถึงหลักยุติธรรม ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย 1.6 การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนอันพึงมี จนทำให้เกิดแรงกดดันที่ทำให้เกิดการประทุของสังคมในการต่อต้าน และไม่ไว้วางใจรัฐบาล 1.7 เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นที่แพร่กระจาย จนกลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่มีใครแยแสใส่ใจ และรัฐบาลไม่อาจแก้ไขได้ นอกจากนี้ยังอาจเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นที่ระบาดไปทุกวงการ 2.ด้านเศรษฐกิจ 2.1 ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางรายได้ การถือครองที่ดิน การครอบงำทุน ด้วยกลไกที่รัฐบาลอาจจะรู้เห็นเป็นใจ สมคบกับนายทุนชาติ ทำให้ประชาชนรากหญ้ายากจนข้นแค้น 2.2 ระบบเศรษฐกิจผูกขาดที่ดูดซับเอาทรัพยากรทั้งหลายไปกระจุกตัวกับส่วนบน คือนายทุนชาติและชนชั้นปกครอง 2.3 ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการวางแผนผิดพลาดของรัฐบาล เช่น การพึ่งพาเศรษฐกิจบางภาคส่วนมากเกินไป เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ โลกก็เกิดผลกระทบรุนแรง นอกจากนี้รัฐบาลอาจดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เพราะมุ่งแต่ส่งเสริมนายทุนชาติ ด้วยเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนละเลยภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนรากหญ้า หรือมุ่งเน้นนโยบายประชานิยม ที่มิได้เกิดผลทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 2.4 การสร้างหนี้สาธารณะด้วยนโยบายขาดดุล อันหวังผลด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาวการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ขัดสนทางความเป็นอยู่ และมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ทำให้การบริโภคต่ำ และเศรษฐกิจโดยรวมมีโครงสร้างที่บิดเบี้ยวอันนำไปสู่ปัญหาอื่นๆตามมา 2.5 เกิดความล้มเหลวในการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ และไม่อาจตอบสนองต่อการเกื้อกูลสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ระบบราชการไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง 3.ด้านการเมือง 3.1 รัฐบาลขาดความชอบธรรมในการปกครอง ซึ่งอาจวัดได้จากระดับของความเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ความโปร่งใสในการบริหารงาน การได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศ การไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยเสรี 3.2 การละเมิดสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของสื่อมวลชน การดำเนินการตามกฎหมายต่อพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือการเลือกปฏิบัติ 3.3 การยึดหลักความมั่นคง ซึ่งเบี่ยงเบนไปจากความมั่นคงของรัฐ ไปสู่ความมั่นคงของรัฐบาล จึงอาจนำไปสู่การใช้กำลังที่รุนแรง เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐบาล ที่อาจไม่ชอบธรรมและอาจนำไปสู่การใช้กำลังต่อต้านรัฐบาลที่อาจมาในรูปกองโจร หรือการก่อการร้าย หรือการประท้วงที่ก่อให้เกิดการจลาจล 3.4 การผูกขาดทางการเมืองด้วยกลุ่มชนชั้นนำที่ครอบงำอำนาจและเอื้อประโยชน์ให้แก่ตน 3.5 การแทรกแซงจากภายนอกประเทศที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อประโยชน์ของประเทศตน เช่น มหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือการทหาร จนอาจเกิดการสนับสนุนให้เกิดจลาจล จัดตั้งกลุ่มกบฏ หรือกลุ่มก่อการร้ายหรือสนับสนุนพรรคการเมืองตรงข้ามรัฐบาล หรือทหารที่ไม่พอใจรัฐบาลให้ยึดอำนาจ ครับก็ลองไปพิจารณาดูว่ารัฐบาลไทยมีแนวโน้มไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลวหรือไม่ ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา