ภาวะเด็กอ้วนที่มีมากถึงร้อยละ 12 จากจำนวนนักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ป.6 ที่มีแค่ 96 คน ทำให้ผู้บริหาร และคณะครูโรงเรียนบ้านโชคกราด หมู่ 4 ต.บ้านตะโก อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ต้องทบทวนและหาแนวทางแก้ไข เพราะนั่นแสดงว่าลำพังโรงเรียน หรือครู ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือควบคุมพฤติกรรมการบริโภคของเด็กได้ เนื่องจากเด็กอยู่ในโรงเรียนแค่ 8 ชั่วโมง อีก 16 ชั่วโมงใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน และในชุมชน “เราประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ว่าควรจัดการอย่างไร จะร่วมมือกันอย่างไร เพื่อพัฒนาภาวะทางโภชนาการของเด็ก พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหาร หรือการซื้อของกินที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ลูกอม หรืออาหารที่มีรสหวาน มัน เพราะจะส่งผลต่อเนื่อง ถ้าเด็กอ้วนจนถึงวัยรุ่น ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงถึง 3 ใน 4 ที่จะนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน หลอดเลือดอุดตัน” ศิราณี ศักรินพานิชกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโชคกราด บอกถึงขั้นตอนทำงาน การดำเนินกิจกรรมของโรงเรียนบ้านโชคกราดจึงควบคู่กันไป ทั้งโรงอาหารอ่อนหวาน และอาหารปลอดภัย นั่นคือส่งเสริมให้นักเรียน และชุมชน ปลูกผักปลอดสารเคมี เพาะเห็ด เพื่อให้เด็กได้รับอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ ขณะที่การปรุงรสต้องไม่หวาน มัน เค็ม และให้เด็กแปรงฟันอย่างถูกวิธีหลังรับประทานอาหาร เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีในทุกๆ ด้าน สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ สวัสดิ์ ชนะมาร คุณแม่น้องแก้ว เด็กนักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านโชคกราด ที่ยอมรับว่าเดิมขาดความรู้ด้านโภชนาการ เน้นทำอาหารตามใจปาก เช่น ทอด ผัด ทำให้ตน และน้องแก้วมีรูปร่างอ้วน แต่พอได้รับความรู้จากคุณครู และหมอ ที่มาอบรม ก็พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงอาหาร และการกินของทุกคนในครอบครัว ลดหวานมันเค็ม กินในปริมาณพอเหมาะ พร้อมกับเน้นให้ลูกแปรงฟัน ดูแลสุขภาพช่องปาก จนน้ำหนักเริ่มลดลงเล็กน้อย ยังต้องใช้ความพยายามต่อไป และคอยเป็นกำลังใจให้กันและกันอยู่เสมอ เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมโพชร์ เนตรากูล เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน กลุ่มงานทันตสาธารณสุข สสจ.บุรีรัมย์ ย้ำว่า เดิมทำงานกับโรงเรียน โดยเน้นโรคทางช่องปากเป็นหลัก อุดฟันตามโรงเรียนเพื่อไห้ฟันผุน้อยลง หากนั่นไม่สามารถเพิ่มเด็กฟันดีได้ เด็ก 10 คน ฟันผุถึง 7 คน แถมยังมีเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นอีก และในโรงอาหารเอง อาหารว่างก็มีขนมหวานที่ใส่น้ำตาลมาก มีน้ำอัดลมในโรงเรียน สหกรณ์โรงเรียนยังขายพวกไอศกรีม การต่อสู้โรคช่องปากอย่างเดียวจึงไปไม่ไหว ความจำเป็นบีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ด้วยการหาเครือข่ายมาร่วม จึงเข้าร่วมกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน หากการดำเนินงาน ต้องยืนอยู่บนฐานความเป็นจริง นั่นคือ ผู้ปกครอง ชุมชน ยังมองเรื่องฟันเป็นเรื่องด้อยกว่าปากท้อง เขาต้องได้รับประทานอาหารที่เพียงพอก่อน ประกอบกับชุมชนบ้านโชคกราด เป็นชุมชนเกษตรกรรม ถ้านำเรื่องไม่กินหวานมาคุยตั้งแต่ต้น ผู้ปกครองจะมองเห็นความสำคัญแค่ไหน ในเมื่อการกินหวานเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขา วิธีการ จึงเริ่มเจาะจากจุดเด่นที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว คือเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ อาหารกลางวันเน้นให้ปลอดภัยจากสารเคมี มีการส่งเสริมให้เด็กๆ ผู้ปกครอง และชุมชน ปลูกผัก ผลไม้ ปลอดสาร เพื่อเป็นวัตถุดิบเข้าโรงอาหาร จากนั้นค่อยๆ แทรกซึมเรื่องไม่กินหวาน การแปรงฟันเข้าไป จนถึงขณะนี้พบว่าโรงเรียนบ้านโชคกราด ดึงน้ำตาลออกจากอาหารว่างในโรงเรียน โรงอาหารได้แล้ว ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นบันไดขั้นแรกของความสำเร็จ ที่จะก้าวสู่บันไดขั้นอื่นๆ ต่อไป ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ที่ปรึกษากรมอนามัย และที่ปรึกษาโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า โรงเรียนได้พยายามปรับตัว ทำเรื่องโรงอาหารอ่อนหวาน เน้นการปรุงอาหารที่ไม่หวาน มัน เค็ม โดยใช้วัตถุดิบจากที่นักเรียนสามารถผลิตเองได้ เช่น ปลูกผักเอง เลี้ยงไก่เพื่อเอาไข่ เลี้ยงปลา ทำให้ได้วัตถุดิบที่ปลอดภัย นำมาสู่การปรุงที่อ่อนหวาน แล้วเสิร์ฟไปถึงโต๊ะให้เด็กได้กินอาหารที่ปลอดภัย หากปัญหาที่พบ ก็คือโรงเรียน หรือนักเรียน ไม่สามารถปลูกพืชผักให้ครอบคลุม 100% ของอาหารที่จะทำ จึงเป็นหน้าที่ของชุมชน หมู่บ้าน ที่ต้องช่วยเหลือและดูแลลูกหลาน แทนที่จะปล่อยให้ซื้อพืชผักที่ตลาด ซึ่งไม่รู้ว่าแหล่งผลิตเป็นอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ชุมชนที่เป็น “หมู่บ้านนวัตวิถี เกษตรพอเพียง” และปลูกผักอินทรีย์อยู่แล้ว ก็สามารถนำพืชผักที่ปลูกมาสนับสนุนเป็นวัตถุดิบแก่ทางโรงเรียนได้ กลายเป็นความร่วมมือร่วมใจที่ส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัยของเด็กในทุกๆ ด้าน ล่าสุด นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ขณะนี้ในระดับอำเภอ มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน และสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการ จึงสามารถนำเสนอเรื่องราว หรือปัญหาต่างๆ เหล่านี้เข้าสู่คณะกรรมการ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เช่น เกษตร พัฒนาชุมชน กศน. สาธารณสุข หน่วยงานด้านการศึกษา รวมถึงอีกหลายๆ องค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมขบคิด และจัดการเชิงบูรณาการ เพื่อให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่ดี ลดหวาน มัน เค็ม ได้รับอาหารที่ปลอดภัย ก่อให้เกิดสติปัญญาที่ดีสืบไป