จากที่เคยเข้าใจกันว่าหลุมดำมีแรงดึงดูดมหาศาล ที่จะดูดกลืนสิ่งต่างๆ เข้าไปอยู่ในนั้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ระบุ “เมื่อ 5 ล้านปีก่อน มีระบบดาวคู่โคจรอยู่ใกล้กับ #หลุมดำมวลมหาศาล บริเวณใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก แรงโน้มถ่วงที่รุนแรงของหลุมดำนี้น่าจะดึงดูดดาวฤกษ์ดวงหนึ่งไว้ และเหวี่ยงดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งออกไปด้วยความเร็วมากกว่า 6 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่าดาวฤกษ์มีความเร็วมากพอที่จะหลุดพ้นออกจากทางช้างเผือก ดาวฤกษ์ดวงนี้มีชื่อว่า “S5-HVS1” ซึ่งจะออกนอกกาแล็กซีทางช้างเผือก เข้าสู่ห้วงอวกาศระหว่างกาแล็กซีในอีกประมาณ 100 ล้านปีข้างหน้า หลุมดำยักษ์ที่อยู่ใจกลางทางช้างเผือกมีชื่อว่า “Sagittarius A*” มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 4 ล้านเท่า มวลมหาศาลนี้จะดึงดูดดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เคียงเข้าสู่วงโคจร หากเป็นระบบดาวคู่จะมีโอกาสที่ดวงหนึ่งถูกดึงดูดเข้าใกล้หลุมดำ ในขณะที่อีกดวงหนึ่งถูกเหวี่ยงออกไปด้วยความเร็วสูง กระบวนการนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม “#กลไกของฮิลส์ (Hills Mechanism)” เสนอโดยนักดาราศาสตร์ชื่อ แจ็ค ฮิลส์ (Jack Hills) เมื่อ 3 ทศวรรษก่อนหน้านี้ เซอร์เก โคโปซอฟ (Sergey Koposov) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสุดๆ เพราะเราสงสัยมานานแล้วว่า หลุมดำสามารถผลักดาวออกมาด้วยความเร็วสูงมากได้หรือไม่” ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลบ่งชี้ว่า เมื่อประมาณห้าล้านปีก่อน หลุมดำยักษ์ที่ใจกลางทางช้างเผือกเหวี่ยงดาวฤกษ์ดวงนี้ออกด้วยความเร็วหลายพันกิโลเมตรต่อวินาที งานวิจัยครั้งนี้ใช้กล้องโทรทรรศน์แองโกล-ออสเตรเลียน ขนาดหน้ากล้อง 3.9 เมตร ที่หอดูดาวไซดิงสปริง ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบดาวดวงนี้โดยบังเอิญขณะกำลังค้นหากาแล็กซีขนาดเล็กที่โคจรรอบทางช้างเผือก พบว่าดาวฤกษ์นี้อยู่ห่างจากโลก 29,000 ปีแสง ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถวัดการเคลื่อนที่ของมันได้อย่างแม่นยำ ติง ลี นักวิจัยจากหอดูดาวคาร์เนกีและมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ผู้นำการสังเกตการณ์ดาว S5-HVS1 กล่าวว่า “การได้เห็นดาวดวงนี้น่าทึ่งจริง ๆ เพราะเรารู้ว่ามันต้องก่อตัวขึ้นในใจกลางกาแล็กซีซึ่งมีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ระบบสุริยะของเรามาก และวิถีการเคลื่อนที่ของดาวดวงนี้ช่วยพิสูจน์กลไกของฮิลส์ได้อย่างชัดเจน” อ้างอิง https://astronomynow.com/…/milky-ways-central-black-hole-f…/”