สัปดาห์ที่ผ่านมาต้องถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป หรืออียู เมื่อนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ เริ่มใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เพื่อเริ่มกระบวนการแยกตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการ หลัง 44 ปี ของการเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งเป็นการทำตามเจตนารมย์ของเสียงส่วนใหญ่จากผลการลงประชามติของประชาชนเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว ในการนี้ เซอร์ทิม แบร์โรว์ ผู้แทนถาวรอังกฤษประจำอียู ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงค์ต่อนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียม และหลังจากนี้กระบวนการเจรจาเพื่อออกจากอียูก็จะเริ่มขึ้นโดยจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจากันในประเด็นที่ซับซ้อนต่างๆ อาทิเรื่องการเงินการคลัง ความสัมพันธ์ด้านการค้า สถานะพลเมืองอียู "นี่เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ที่ไม่สามารถหันหลังกลับ และตอนนี้ถึงเวลาที่เราทุกคนร่วมมือกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน การดำเนินการตามมาตรา 50 ได้เริ่มขึ้นแล้ว ตามความประสงค์ของชาวอังกฤษ และสหราชอาณาจักรในการออกจากอียู เรากำลังใช้โอกาสนี้ในการประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น เท่าเทียมขึ้น ประเทศที่ลูกของเรา หลานของเราจะภูมิใจที่จะเรียกที่แห่งนี้ว่าบ้าน" ผู้นำหญิงของอังกฤษได้กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาอังกฤษ โดยอ้างถึงผลลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งฝ่ายสนับสนุนเบรคซิตได้เสียงข้างมากที่ร้อยละ 52 แต่ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว รัฐสภาสก็อตแลนด์เพิ่งจะมีการโหวตเพื่อจะจัดการลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อที่จะสามารถยังคงสถานะสมาชิกอียูได้ มาดูกันว่าหลังกระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้น ปฏิกิริยาของบรรดาผู้นำต่างๆ ต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง "เราคิดถึงคุณเสียแล้ว...ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องแกล้งท้เป็นว่าวันนี้เป็นวันที่มีความสุข" นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรป "การเจรจาจะต้องชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มว่าเราจะแยกความสัมพันธืที่เชื่อมโยงกันอย่างไร แต่เมื่อตอบคำถามนี้ได้ ซึ่งเราหวังว่าจะเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นเราก็จะมาพูดเรื่องความสัมพันธ์ในอนาคตของเรา" นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี "ประโยคที่มักถูกใช้เสมอเวลาที่คนเลิกกันก็คือ ยังเป็นเพื่อนกันนะ เช่นเดียวกันในกรณีนี้ อังกฤษยังคงเป็นเพื่อนบ้านของเรา เช่นเดียวกับที่สหภาพยุโรปยังเป็นเพื่อนของอังกฤษ เราต่างต้องการกันและกัน" นายซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี "เบรกซิตเป็นความเจ็บปวดสำหรับชาวยุโรป แต่มันจะเป็นความเจ็บปวดสำหรับอังกฤษ ซึ่งนี่ตั้งใจของเราที่จะลงโทษอังกฤษแต่อย่างใด ในหลักการแล้ว" ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ ของฝรั่งเศส "นี่ไม่ใช่วันที่ดี เบรกซิตสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของยุโรป แต่เราพร้อม เราจะก้าวต่อไป หวังว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นพาร์ทเนอร์ที่ใกล้ชิดต่อไป" นายอันโตนิโอ ทาจานี หัวหน้ารัฐสภายุโรป "บรรดานักการเมืองที่สู้เพื่อเบรคซิต ได้รับอนุญาตให้เติบโตขึ้นในการเป็นอิสระจากยุโรป วันนี้พวกเขากำลังสร้างกำแพงขึ้นมาใหม่ ประวัติศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่าเบรคซิตเป็นเรื่องผิดพลาด มันจะสร้างผลกระทบต่อทั้งสองฝ่าย" แมนเฟรด เวเบอร์ หัวหน้าพรรคประชาชนยุโรป (อีพีพี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภายุโรป "เนเธอร์แลนด์มุ่งมั่นที่จะหลีกเลี่ยงการแยกทางที่ยุ่งยาก และสร้างความสัมพันธ์แบบอื่นกับอังกฤษ สงบเข้าไว้ อยู่กับความจริง และเจรจา" นายเบิร์ต โคเอนเดอร์ส รัฐมนตรีต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ "ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ยินดีด้วยสหราชอาณาจักร การได้คืนมาซึ่งอำนาจอธิปไตยของชาติ ชาวเนเธอร์แลนด์จะตามไปเร็วๆ นี้" เกิร์ต ไวล์เดอร์ส สส.พรรคเสรีภาพดัตซ์ "มันเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ที่จะทำให้ยุโรปเข้าสู่เส้นทางที่ไม่มีใครรู้ หวังว่าประชาชนยุโรปจะผ่านความท้าทายไปได้" นายมาริโอ เซนเตโน รัฐมนตรีคลังโปรตุเกส ทางด้านสหรัฐฯ เองก็มีท่าทีต่อก้าวย่างสำคัญนี้เช่นกัน โดยนายฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐฯ เคารพในความปรารถนาของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอังกฤษ และรัฐบาลของสมเด็จพระชินีในการที่จะออกจากสหภาพยุโรป แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับสหราชจักรจะยังคงเดิม สหรัฐฯ ต้องการให้สหราชอาณาจักรยังเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในยุโรป แน่นอนบรรดาผู้นำยุโรปไม่สู้จะโอเคแน่กับเรื่องนี้ อย่างเยอรมนี และฝรั่งเศสเองก็ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่มีการเจรจาการค้าอะไรกับสหราชอาณาจักรทั้งนั้น จนกว่าเรื่องของเงื่อนไขการออกจากอียูจะเรียบร้อยเสียก่อน รุ่งขึ้น นางเทเรซา เมย์ ก็ลงทุนเขียนคอลัมน์ลงในหนังสือพิมพ์ยุโรป 7 ฉบับ เน้นว่าการเจรจาเรื่องเบรคซิต นั้นจะอยู่บนผลประโยชน์ของทุกฝ่าย "เราจะเดินหน้าในส่วนของเราเพื่อประกันว่ายุโรปจะยังคงแข็งแกร่ง และก้าวหน้า และสามารถเป็นผู้นำโลกได้ เบรคซิตไม่ได้มีความพยายามที่จะทำร้ายสหภาพยุโรป หรือประเทศใดที่ยังเป็นสมาชิกอยู่ มันจะเป็นอันตรายต่อเราทุกคนหากอุปสรรคทางการค้าถูกสร้างขึ้น" แน่นอนว่าเส้นทางนี้ยังอีกยาวไกล แต่วันนี้ได้มีการวิเคราะมาแล้วว่า ราคาที่สหราชอาณาจักร์ต้องจ่ายสำหรับอิสรภาพอันหอมหวานนี้อาจจะไม่ใช่น้อยๆ เสียแล้ว สำนักงานความรับผิดชอบด้านงบประมาณ (โอบีอาร์) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระเกี่ยวกับการตรวจสอบการคลังของสหราชอาณาจักร ประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจปี 2017 นี้ ที่ร้อยละ 2 แต่ก่อนผลโหวตเบรคซิตปีที่แล้วออกมาคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.2 และการปรับลดคาดการณ์ยิ่งมากขึ้นในปีต่อๆ ไป โดยปี 2018 โตอยู่ที่ ร้อยละ 1.6 เทียบกับก่อนเบรคซิตที่ ร้อยละ 2.1 มาดูในส่วนของหนี้ เมื่อการเติบโตชะลอตัว รายได้ภาครัฐย่อมกระทบแน่นอน เพราะภาคธุรกิจ และผู้มีเงินได้ก็จะจ่ายภาษีน้อยลง นั่นหมายถึงจะต้องมีการกู้ยืมมากขึ้น โอบีอาร์คาดว่าหนี้ภาครัฐจะแต่ 1.9 ล้านล้านปอนด์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ที่คิดว่าจะอยู่ประมาณ 1.74 ล้านล้านปอนด์ โดยนายโฮลเกอร์ ชไมดิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารบาเรนเบิร์กระบุว่า สหราชอาณาจักรจะต้องปรับนโยบายการคลังให้เข้มงวดขึ้นเพื่อรับมือกับช่องว่างดังกล่าว มาดูกันที่การจ้างงาน จากที่คนอังกฤษฝันหวานว่าออกจากอียูแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น ปัญหาผู้อพยพที่พวกเขาโทษมาตลอดว่าเข้ามาแย่งงานเจ้าขงองประเทศทำนั้น เหมือนว่าภาวะความไม่แน่นนอนที่ต้องเผชิญในขณะที่กระบวนการเบรคซิตดำเนินนั้นจะกระทบต่อการสร้างงานด้วย โดยผลสำรวจโดยแมนพาวเวอร์ กรุ๊ปที่ตีพิมพ์ในเดือนมี.ค. ความเชื่อมั่นที่จะจ้างงานของภาคธุรกิจต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี บางบริษัทบอกว่าอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานในต่างประเทศเพื่อรักษาการดำเนินธุรกิจในยุโรป ธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่งได้เริ่มกระบวนการนี้ไปบ้างแล้ว โอบีอาร์คาดว่า จำนวนผู้ที่จะมาขอใช้สิทธิผู้ว่างงานในปีนี้จะแตะ 8.3 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 หมื่นคนที่คำนวนไว้เมื่อมี.ค. ปีก่อน และจำนวนจะเพิ่มไปถึง 8.8 แสนคนในปี 2020 เพิ่มขึ้นราว 1 หมื่นคนจากตอนที่คำนวนไว้ก่อนโหวตเบรคซิต อัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นในปี 2018 ไปแตะที่จุดพีคสุด ร้อยละ 5.2 ในปี 2020 อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ประเทศสมาชิกอียูต้องรับผิดชอบเรื่องงบประมาณร่วมกันในหลายอย่าง เช่นโครงการสาธารณูปโภค โครงการทางสังคม การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงเงินบำนาญของข้าราชการอียู ซึ่งปีงบประมาณจะสิ้นสุดลงในปี 2020 แต่เจ้าหน้าที่อียูต่างออกมาพูดกันว่า พวกเขาหวังว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงปฏิบัติตามภาระผูกพันที่มีแม้ว่าจะออกจากอียูไปในปี 2019 ก็ตาม ซึ่งคร่าวๆ ตัวเลขที่นายฌอง - คลอด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปบอกไว้าก็คือ สหราชอาณาจักรต้องจ่ายอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านปอนด์ เอาหล่ะนี่แค่คิกออฟ ก็มีเรื่องต้องหนักใจกันแล้วทั้ง 2 ฝ่าย หนทางการเจรจายังอีกยาวไกล กรณีนี้เลิกกันแล้วก็ยังต้องเป็นเพื่อนกันต่อไป แต่จะได้จากกันไปแบบไหน และจะอยู่ต่อกันไปแบบไหน เราคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดกันยาวๆ