"มนัญญา" ปลื้ม กระแสตอบรับล้นหลาม คนรุ่นใหม่ หวนคืนบ้านเกิดเกิน 5 พันคนแล้ว ระบุมีปริญญาเอกจบ “ดร.” มาสมัครกว่าร้อยละ 10 ปริญญาตรี ร้อยละ60 เตรียมพื้นที่นิคมสหกรณ์รองรับคนตกงาน
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่อการเกษตร” โดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ นายวิวัตห์ชัย พันธุ์วา และนายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกิจกรรม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพ
น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันมาเชื่อมโยงกันเดินหน้าโครงการนี้ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เห็นด้วยที่ต้องมีเกษตรกรรุ่นใหม่ มาทดแทนเกษตรกรไทยส่วนใหญ่สูงอายุ ซึ่งคำว่า พาเกษตรกรกลับบ้าน จากประสบการณ์ตัวเองลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาตลอด จึงหาแนวทางแก้ไขโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“โครงการนี้ คนจบดร. ปริญญาเอก 10 คน ได้สมัครเพราะอยากกลับบ้านเกิด นำประโยชน์คืนสู่ท้องถิ่นตนเอง เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถทำได้ทั้งพืชไร่ พืชสวน จะเห็นว่าประเทศไทยยังนำเข้ามะพร้าว ข้าวโพด ผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรอื่นๆทุกปี ซึ่งขอว่าอย่าทำลายเกษตรกรไทย ถ้าเราไม่ฟื้นฟูเกษตรบ้านเราให้เข้มแข็ง ต่อไปจะนำเข้าทั้งหมดหรือ ดิฉันตั้งเป้าว่าต้องผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยเพื่อบริโภค ขายในประเทศให้เพียงพอ และส่งออก เป็นครัวโลก ดิฉันทำอะไรมีข้อมูล ลึกซึ้ง เข้าใจเกษตรกร ผู้บริโภค ตลาดต้องการอะไร ขณะนี้ได้ตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ผู้บริโภคนิยมดังมากสหกรณ์มาขอจะเปิดให้ครบทุกจังหวัด ตนเองไม่เคยทำอะไรฉาบฉวย จะทำต่ออย่างมั่นคง ไม่ใช่แค่แถลงข่าวแล้วจบกัน”รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ทำเกษตรมามีแต่หนี้ ต้องรีบดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำเกษตรแนวใหม่ เป็นเกษตรแบบแม่นยำ ทำน้อยได้มาก ขณะนี้มีคนสนใจเข้าเกือบ5พันคนแล้วตั้งเปิดรับสมัครวันที่1 ม.ค. ส่วนใหญ่กลุ่มอายุ30-39ปี วุฒิปริญญาตรีเกือบ60เปอร์เซนต์ มีปริญญาโท10 เปอร์เซนต์ และมีปริญญาเอก 10 เปอร์เซ็นต์ อีกด้วย จะเป็นอาชีพทำงานบริษัท ค้าขาย รับจ้าง และส่วนมากทำงานในกรุงเทพ อยากกลับไปทำอาชีพเกษตรในบ้านเกิดตนเอง ซึ่งหน้าที่กระทรวงเกษตรฯต้องช่วยคนที่จะมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ออกไปทำแล้วต้องรอด ให้เขามั่นใจไปอยู่ในโลกสังคมการเกษตรของแต่ละในพื้นที่
โดยจะรับสมัคร 1-30 ม.ค. นี้ และประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ 2 มี.ค.คาดว่าลูกหลานเกษตรกรรุ่นใหม่ จะกลับมาเป็นสมาชิกสหกรณ์ และบริหารสหกรณ์ต่อไปภายภาคหน้า สิ่งสำคัญคือการอบรม ปรับเปลี่ยนสภาพจิตใจตนเองจากอาชีพงานประจำรับเงินเดือน ไปทำอาชีพเกษตร มีการตัดสินใจเด็ดเดี่ยว หน่วยงานรัฐจะต้องไปช่วยผลักดันทำให้รอดอยู่ในอาชีพเกษตรสืบทอดได้ต่อไปในครัวเรือน
สำหรับพื้นที่นิคมสหกรณ์ 639ไร่ 17 จังหวัด เช่น จ.สุโขทัย ระยอง ได้วางไว้แผนหลังจากนี้ในส่วนเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ไม่มีที่ดิน จะให้เข้าใช้ประโยชน์ไม่ใช่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ โดยจำลองรูปแบบสหกรณ์คิบุบตซ์ เหมือนประเทศอิสราเอล จัดการกันเองร่วมกันแบ่งปันผลประโยชน์ ปัจจุบันเกษตรกรไทยสูงวัย ทำพืชเชิงเดียวใช้วิธีจ้างอย่างเดียว ก็ไปไม่รอด ต้องปรับแนวคิดกันใหม่ทั้งหมดก่อน