หอการค้าทบทวนเป้า GDP ปี 63 โต 2.8% จาก 3.1% -ส่งออก 0.8% จากเดิม 1.8% รับส่งออกทรุดจากบาทแข็ง-การเมืองไร้เสถียรภาพ-ภัยแล้งหนัก-สงครามการค้ายังไม่จบ-มะกันกับอิหร่านเปิดศึก ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นเดือน ธ.ค.ลดต่อเป็นเดือนที่ 10 แตะ 45.7 ต่ำสุดรอบ 12 เดือน นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นการค้าไทย เดือนธ.ค.62 ดัชนีมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ต่ำสุดในรอบ 2 ปี เป็นผลมาจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวล หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 การส่งออกของไทยเดือนพ.ย.62ติดลบถึงร้อยละ 7.39 ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลเกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคทำให้ชะลอตัวลง แม้ว่าสิ้นปีจะมีการจับจ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หอการค้าไทยต้องการให้ภาครัฐสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจของประเทศและสถานการณ์การเมือง หรือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภค ผลักดันการส่งออกให้มีการขยายตัวอย่างชัดเจน สร้างสมดุลของราคาพืชผลทางการเกษตรให้ได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนให้มีโครงการในระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์ทางธรรมชาติเช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และสร้างความเจริญกระจายไปในส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์ฯได้มีการปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563 ลดลงเหลือร้อยละ 2.8 จากเดิมร้อยละ 3.1 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยมีอัตราเงินเฟ้อขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 เนื่องจากมองว่าปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยความกังวลมากที่สุดคือ สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ เพราะหากเสถียรภาพลดลงจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศและการลงทุน ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวลดลงอีก รวมถึงความไม่แน่นอนของค่าเงินบาทที่มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากหลุด 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะมีผลกับการส่งออกของประเทศ ทำให้การส่งออกขยายตัวติดลบร้อยละ 0.4 การอัดฉีดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงถือว่ามีความจำเป็น เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 และในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวร้อยละ 3 เป็นต้น “หากดูมุมมองความกังวลที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยที่หอการค้าประเมินไว้นั้นคือ ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาทางการเมือง โดยมีการประท้วง และเกิดภาวะสร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชนภายในประเทศ โดยส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การบริโภคชะลอตัว นักลงทุนไม่กล้าลงทุน ค่าเงินบาทแข็งค่า โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยสูงมาก แต่ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” โดยจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกเชื่อว่าจะกระทบต่อเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไปประมาณ 100,000 ล้านบาทเช่น ปัญหาภัยแล้งคาดว่าจะกระทบต่อเม็ดเงินในระบบ 10,000 ล้านบาท การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลต่อเม็ดเงินในระบบถึง 25,000-30,000 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกหากหดตัวไป 1% จะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบ 70.000-80,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวภาครัฐอาจจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ มองว่ามีความล่าช้าโดยคาดว่าจะเห็นการเบิกจ่ายการลงทุนได้ประมาณช่วงกลางปี 2563 “การประเมินเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.6% ส่วนความกังวลเรื่องของค่าเงินบาทจะแข็งค่ารถในกรอบ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มองว่าไม่น่าจะหลุดกรอบดังกล่าวโดยจะยังคงอยู่ในระดับนี้ไปก่อน อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตามปัจจัยต่างๆอย่างใกล้ชิดทั้งภายในและภายนอก ปัญหาเรื่องความภัยแล้งระดับน้ำในเขื่อน การปล่อยสินเชื่อของสถาบันทางการเงิน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยการขยายตัวการส่งออก การลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงภาคการผลิต การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้”