เกษตรกรชาวตำบลนามะเขือ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ยิ้มออกแม้ภัยแล้งจะคุกคาม แต่ในพื้นที่ไม่ขาดน้ำหลังทำการขุดลอกลำห้วย พร้อมสร้างบ่อกักเก็บน้ำใต้ดิน ขุดคลองขนมครก น้อมนำศาสตร์พระราชาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ทำให้พื้นที่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ กลับมีน้ำใช้ปลูกพืชฤดูแล้งสร้างรายได้ต่อเนื่องไม่หวั่นแล้ง เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 ว่าที่ร้อยโทอุทิศ คงรอด นายอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวบ้านเพื่อสำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้านในช่วงภาวะภัยแล้ง ซึ่งได้ลงไปยังพื้นที่ลำห้วยขมิ้นที่เพิ่งมีการขุดลอก และสร้างบ่อกักเก็บน้ำใต้ดิน โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อันเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โดยคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำร่องในพื้นที่ต.นามะเขือ ซึ่งน้อมนำศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขุดลอกคลองลำห้วยแบบขนมครก และเสริมการก่อสร้างบ่อกักเก็บน้ำใต้ดิน 5 ลำห้วย 24 จุด ประกอบด้วยลำห้วยยาง ลำห้วยลาดค้อ ลำห้วยแข้ ลำห้วยมะเขือ และลำห้วยขมิ้น ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,901,600 บาท ว่าที่ร้อยโทอุทิศ คงรอด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า ทันทีที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ทาง อ.สหัสขันธ์ ได้เรียกประชุมทุกฝ่ายเข้าหารือพิจารณากลั่นกรองพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเลือกเอาพื้นที่ที่กระทบหนักที่สุดเป็นอันดับแรกในการแก้ไขปัญหา จากนั้นได้ระดมทีมช่าง และผู้มีความรู้เรื่องระบบน้ำ จึงได้น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการขุดลอกลำห้วยแบบขนมครก เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง และเสริมการก่อสร้างบ่อกักเก็บน้ำใต้ดินเพิ่มเข้ามา “เป็นการขุดลอกที่เหมือนกับการขุดลอกทั่วไป กว้าง 12 เมตร ลึกประมาณ 3.50 เมตร โดยน้อมนำการขุดแบบขนมครกตามพระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 ขุด 100 สลับ 8 เมตร คล้ายฝาย และวางระบบก่อสร้างบ่อกักเก็บน้ำใต้ดิน จะมีการขุดให้ลึกจนถึงชั้นหินผุ ที่จะลึกลงไปอีกประมาณ 4-5 เมตร จากนั้นใช้ท่อซีเมนต์ขนาด 60 x 120 ชม. วางเป็นลงในแนวตั้ง ซึ่งแต่ละจุดใช้ท่อประมาณ 3-6 ท่อ ขึ้นอยู่กับความลึกของชั้นหินผุ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้ผลดีในขณะนี้ โดยเรียกรูปแบบนี้ว่า ธาราใต้หล้านามะเขือโมเดล 2562” นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าว นางสมประสงค์ สุพัฒนาพงศ์ นายกเทศมนตรี ต.นามะเขือ กล่าวว่า ธาราใต้หล้านามะเขือ โมเดล 2562 เป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่พึงพอใจของชาวบ้าน ในอดีต ต.นามะเขือ มีปัญหาขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งอย่างมาก เป็นพื้นที่สูงนอกเขตชลประทาน ในช่วงหน้าฝนก็มีปัญหาอุทกภัยเป็นอย่างนี้มานาน และชาวบ้านมีการต่อต้านการขุดลอกเพราะกระทบกับที่นา และที่สวน กระทั่งได้ใช้รูปแบบการขุดลอกและก่อสร้างระบบน้ำใต้ดินเข้ามา ปัจจุบันทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ เดิมทำการเกษตรได้เพียงปลูกข้าวปีละ 1 ครั้ง แต่ปัจจุบัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม สามารถปลูกพืชสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องกลัวขาดน้ำอีกแล้ว “เมื่อทางคณะรัฐมนตรี โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อันเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ธาราใต้หล้านามะเขือโมเดล 2562 เป็นโครงการที่น้อมนำเอาศาสตร์พระราชา และการต่อยอดระบบน้ำใต้ดินเพื่อกระตุ้นให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี นอกเหนือน้ำที่มีใช้ตลอด ยังทำให้ชาวบ้านมั่นใจการขุดลอกมากขึ้น และเรียกร้องให้ทาง ทต.นามะเขือ ได้ขยายจุดก่อสร้างระบบน้ำใต้ดิน และขุดลอกเพิ่มเติม โดยทาง ทต.นามะเขือ ได้เสนอของบประมาณในการขุดลอกในรูปแบบ ธาราใต้หล้า นามะเขือโมเดล 2562 แล้วหลายโครงการ” นางสมประสงค์ นายก ทต.นามะเขือ กล่าว นางพรลภัส จุฑาสงค์ อายุ 46 ปี เกษตรกร ต.นามะเขือ กล่าวว่า มีที่นาอยู่ 8 ไร่ ติดกับห้วยขมิ้น ของพ่ออีก 42 ไร่ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทำการเกษตรได้เพียงปีละ 1 ครั้ง คือการทำนาปี และเมื่อ 3 ปี ก่อน เริ่มปลูกพืชฤดูแล้ง โดยสูบน้ำจากห้วยขมิ้นขึ้นมาใช้ และจากบ่อน้ำในแปลงนาของตนเอง ก็สุดท้ายหน้าแล้งแต่ละปีน้ำก็ไม่เพียงพอเหมือนเดิม พืชที่ปลูกตายแล้งเสียหาย จนกระทั่งการขุดลอกลำห้วยขมิ้นแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม สังเกตว่ามีน้ำเต็มลำห้วยอยู่ตลอดจึงลองปลูกมะเขือก่อน 2 ไร่ ก็ได้ผลผลิตดีมีรายได้ จึงขยายปลูกพริก 1 ไร่ แตงโม และแคนตาลูปอีก 3 ไร่ โดยสูบน้ำจากท่อกักเก็บน้ำใต้ดิน ในลำห้วยขมิ้นที่มีอยู่ 4 จุด ปรากฏว่าสูบมากขนาดไหน สูบจนน้ำแห้ง ก็มีน้ำเต็มลำห้วยเช่นเดิม ตนเองมั่นใจมากว่าต่อไปนี้จะไม่ขาดแคลนน้ำอีกแล้ว ไม่ห่วงเรื่องน้ำเลยตอนนี้และมีแนวคิดที่จะขยายการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ เพราะตอนนี้มีน้ำพอใช้แล้ว ขณะที่นายประยุทธ์ ปรีพัฒน์ อายุ 40 ปี เกษตรกร กล่าวว่า ลงทุนปลูกพุทรากางมุ้งมานานกว่า 13 ปี ปลูกพุทธาทั้งหมด 150 ต้น เนื้อที่ 2 ไร่ บริเวณริมห้วยแข้ ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ หลายปีที่ห้วยแข้น้ำหมด ก่อนพุทธราจะเก็บเกี่ยวทำให้ประสบปัญหาหลายอย่าง ขาดทุนบ้างในบางปี ผลพุทธราไม่สมบูรณ์ต้องเลหลังขายแบบเหมาสวน แต่มาปีนี้ถือว่าสมบูรณ์มาก ตอนนี้จัดจำหน่ายเองทั้งขายส่ง ขายปลีกมีรายได้มากถึงวันละ 20,000 บาท และยังใช้น้ำในลำห้วยแข้ได้อย่างเต็มที่ สูบใช้แบบวันเว้นวัน สูบใช้จนแห้ง อีกวันน้ำก็เต็มมาใหม่ ดีใจที่มีน้ำและตอนนี้กำลังวางแผนจะปลูกพืชสร้างรายได้ในหน้าแล้งอีกหลายชนิด