ชาวบ้านบุรีรัมย์ ประสบปัญหาแล้ง แหล่งน้ำดิบผลิตประปาแห้งขอดไม่มีน้ำใช้ ต้องลงทุนเสียค่าใช้จ่ายเจาะบาดาลพร้อมติดปั๊มน้ำ บ่อละ 13,000 บาท ส่งผลให้ธุรกิจเจาะบาดาลเฟื่องฟู มีงานวันละ 2 บ่อ แต่มีชาวบ้านติดต่อมาวันละกว่า 10 ราย สร้างรายได้ในช่วงภัยแล้ง คาดมีงานยาวไปถึงเดือน เม.ย. วันนี้ (12 ม.ค.) สถานการณ์ภัยแล้ง ที่ จ.บุรีรัมย์ ยังน่าเป็นห่วง โดยล่าสุดหลังจากหนองมะค่า หมู่ 4 บ้านหัววัว ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ สระน้ำกลางหมู่บ้านขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 100 ไร่ว่า ที่เป็นแหล่งน้ำดิบใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงชาวบ้าน ทั้ง 4 หมู่บ้าน ต.เสม็ด ได้แก่ บ้านหัววัว บ้านหนองขาย่าง บ้านสนวน และบ้านสำโรง มีสภาพแห้งขอดกลายเป็นดินแตกระแหง จึงไม่มีน้ำใช้ผลิตประปา อีกทั้ง บาดาลของหมู่บ้านไม่พอต้องเปิด-ปิดน้ำเป็นเวลา แม้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสม็ด จะนำรถบรรทุกน้ำมาแจกแต่ไม่พอ ทำให้ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน จำนวน 900 ครัวเรือน กว่า 5,000 คน ต้องซื้อน้ำมาใช้กว่า 1 เดือนแล้ว เสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสัปดาห์ละ 250-300 บาท เป็นหมู่บ้านประสบกับภัยแล้งซ้ำซาก แต่ปีนี้หนักสุด เพราะฝนทิ้งช่วง ไม่มีน้ำเข้าเติมในสระน้ำ ทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องลงทุนเจาะบาดาลใช้เอง เสียค่าใช้จ่าย ครัวเรือนละ 5,000-13,000 บาท เพื่อให้มีน้ำใช้เพื่ออุปโภค และทำการเกษตร ขณะเดียวจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเจาะบาดาล มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ จากการรับจ้างเจาะบาดาลวันละ 2 บ่อ คิดค่าเจาะบาดาลบ่อละ 4,000-5,000 บาท ไม่รวมค่าปั๊มน้ำ ซึ่งมีชาวบ้านมาติดต่อให้เจาะบาดาล วันละกว่า 10 ราย ทำให้ช่วงนี้มีงานเจาะบาดาลมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีงานรับเจาะบาดาลยาวไปจนถึงเดือน เม.ย. นางจันทร์ ยอดสวัสดิ์ ชาวบ้านบ้านหัววัว ม.4 ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ เผยว่า ปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้งหนัก ไม่มีน้ำใช้ในครัวเรือน และทำการเกษตรปลูกผัก ดอกไม้ ประกอบกับบาดาลของหมู่บ้านไม่พอต้องเปิด-ปิดน้ำเป็นเวลา จึงต้องลงทุนเจาะบาดาล รวมทั้งเครื่องปั๊มน้ำด้วย เสียค่าใช้จ่าย 13,000 บาท เพื่อให้มีน้ำใช้ในช่วงนี้ เพราะประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว แต่ปีนี้แล้งหนักกว่าทุกปี ไม่มีน้ำเข้าสระทำประปา เชื่อว่าการเจาะบาดาลจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้ แต่หากมีน้ำทำประปาก็จะหยุดใช้น้ำบาดาล เพราะชาวบ้านใช้น้ำบาดาลหลายบ้านก็เกรงว่าน้ำจะไหลช้า และดินทรุดได้ ด้าน นายขวัญชัย ลำดับจุด อายุ 49 ปี ผู้ประกอบการรับเจาะบาดาล ในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า ช่วงนี้ในหลายหมู่บ้านแล้งจัด ทำให้ชาวบ้านต้องเจาะบาดาลใช้เอง ส่งผลให้มีงานรับเจาะบาดาลวันละ 2 บ่อ เดือนละ 60 บ่อ ซึ่งค่าใช้จ่ายการเจาะบาดาลขึ้นอยู่กับความลึก 30-50 เมตร ท่อ 2 นิ้ว อยู่ที่ราคา 4,000-5,000 บาท และเครื่องปั๊มน้ำชาวบ้านจะเลือกเองแล้วติดตั้งให้ รวมแล้วราคาประมาณ 10,000-15,000 บาท ช่วงนี้มีชาวบ้านติดต่อมาให้เจาะบาดาลวันละกว่า 10 ราย แต่สามารถเจาะบาดาลได้แค่ 2 บ่อต่อวัน ส่วนการเจาะบาดาลจะยากหรือง่ายแล้วแต่พื้นที่ที่เจาะด้วย ซึ่งเป็นช่วงที่มีงานมากที่สุดตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.ทุกปี