สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยข้อมูลภาพรวมและแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลที่สำคัญในปี 2563 โดยพบว่า กลุ่มธุรกิจดิจิทัลที่มาแรง ได้แก่ ธุรกิจ E-commerce ที่มีการเติบโตสูง คิดเป็นมูลค่า 748,000 ล้านบาท นับว่าเป็นอันดับ 1 ของมูลค่าธุรกิจ E-commerce ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนดิจิทัลเทรนด์ที่น่าจับตามองได้แก่ เทคโนโลยี 5G ซึ่งจะช่วยยกระดับของเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันและส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประเทศไทยกำลังค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว สรุปข้อมูลภาพรวมและแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลที่สำคัญ 1. Digitalization ยังคง Disrupt พฤติกรรมของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง 1.1 อุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีการเติบโตสูง คือ ธุรกิจ E-commerce ในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าของ E-commerce ในประเทศไทยนับเป็นเม็ดเงินราว 748,000 ล้านบาท นับว่าเป็นอันดับ 1 ของมูลค่าธุรกิจ E-commerce ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการประมาณอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาดอยู่ที่ 20-30% ใน 2560-2562 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญคือ 1.ธุรกิจห้างสรรพสินค้า 2.ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์อาหาร 3) ธุรกิจด้านเครื่องสำอางและอาหารเสริม ซึ่งเป็นผลมาจากการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีด้าน Online Delivery Service เช่น Lineman และ Grab (จากตัวเลขพบว่า Lineman มียอดการใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 300% และมีผู้ใช้บริการ 1.5 ล้านคนต่อเดือนภายในระยะเวลา 2 ปี) 1.2 อุตสาหกรรมดิจิทัลที่ถูก Disrupt และได้รับผลกระทบอย่างมากคือ อุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่มูลค่าลดลงจาก 115,000 ล้านบาทในปี 2557 สู่ 57,000 ล้านบาทในปี 2561 และสูญเสียผู้รับชมจนกระทั่งมีการคืนใบอนุญาตดิจิทัลทีวี ซึ่งเป็นผลมาจากการทดแทนของ Platform OTT ทางดิจิทัล อาทิเช่น Netflix และ Youtube ที่เริ่มลงทุนให้บริการและผลิต Content สำหรับประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี อุตสาหกรรมการเงิน ก็ถูก Disrupt ด้วย Digital Banking และ Fintech จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2562 ระบุว่า จำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ลดลงจาก 7,016 สาขาในปี 2559 เหลืออยู่ที่ 6,534 สาขาในปัจจุบัน 1.3 การพัฒนาเทคโนโลยี AI จะ Disrupt รูปแบบการทำงานเดิมๆจนส่งผลให้ความต้องการจ้างงานลดลง ทั้งนี้คาดกันว่างาน 7 ล้านตำแหน่งในประเทศอังกฤษจะถูกแทนที่ด้วย AI ภายใน 17 ปี ในขณะที่ AI จะสามารถเข้าไปแทนที่ครึ่งหนึ่งของตำแหน่งงานต่างๆที่มีในสหรัฐอเมริกาได้ภายในช่วง 10 ถึง 20 ปีนี้ 1.4 อุตสาหกรรมดิจิทัลที่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดย Fiber Optic ได้กลายมาเป็นเทคโนโลยีหลักในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบ้านเรือน โดยเมื่อเทียบกับปี 2561 Fiber Optic มีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้น 14.85% ในขณะที่เทคโนโลยีอื่นมีอัตราการใช้งานลดลง เช่น Cable Broadband มีอัตราลดลง 18.30% และ xDSL ลดลง 7.03% 1.5 ดิจิทัลเทรนด์ที่น่าจับตามองในปี 2563 ที่กำลังจะมาถึงคือ การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ซึ่งมีประสิทธิภาพที่สูงกว่า 4G ถึง 10 เท่าจะช่วยยกระดับของโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน และเพิ่มอัตราการเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ รวมไปถึงระบบออนไลน์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ สอดรับกับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของปริมาณการรับส่งข้อมูล (Bandwidth)อย่างต่อเนื่องตลอด 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากปัจจัยหลักเช่น 1.ความหลากหลายของดิจิทัลคอนเทนต์ที่มากขึ้น 2.การใช้ Social Media ที่มากขึ้น 3.ระบบเก็บข้อมูลแบบไร้สายและเทคโนโลยี Cloud Computing ที่เข้ามาแทนที่ระบบเก่า 2. อุตสาหกรรมดิจิทัลได้กลายมาเป็นสมรภูมิหลักของ Trade War ระหว่างกลุ่มประเทศมหาอำนาจ และทำให้เกิดแนวโน้มที่สำคัญ 2.1 การย้ายฐานการผลิตของเทคโนโลยีดิจิทัลออกจากประเทศจีนไปสู่ประเทศที่ไม่ได้มีปัญหากับสหรัฐอเมริกาเช่น อินเดียและเวียดนาม โดยประเทศไทยอาจได้รับผลในเชิงบวกได้ด้วย 2.2 ความพยายามของหลายประเทศที่จะคานอำนาจทางเศรษฐกิจของธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐฯเช่น การออกมาตรการ GDPR ของยุโรปเพื่อเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไว้ภายในประเทศ หรือกฎหมาย Internet Sovereignty เพื่อรักษาอธิปไตยทางอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย จะกลายเป็นแบบอย่างให้ประเทศไทยนำมาศึกษาเพื่อพัฒนาให้มีมาตรฐานและความสามารถทางการแข่งขันเทียบเท่ากับระดับสากล 3.กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับดิจิทัล จะถูกบังคับใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในเรื่องนี้ 3.1 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ผู้ประกอบการที่เคยเก็บข้อมูลของลูกค้า ลูกจ้าง ผู้มาติดต่อ หรือเคยนำข้อมูลมาเพื่อวิเคราะห์และพัฒนาการขายหรือการให้บริการจนเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ หลักการที่สำคัญที่ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจเพื่อปรับตัวให้ทัน เช่น การเก็บ การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเสมอ แม้แต่การส่งข้อมูลส่วนบุคคลไปให้บุคคลอื่นก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อน 3.2 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 กำหนดให้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ (Critical Infrastructure หรือ CI) 8 กลุ่มคือ 1.กลุ่มความมั่นคง 2.กลุ่มบริการภาครัฐที่สำคัญ 3.กลุ่มการเงินการธนาคาร 4.กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม 5.การขนส่งและโลจิสติกส์ 6) พลังงานและสาธารณูปโภค 7.กลุ่มสาธารณสุข 8.ด้านอื่นๆที่คณะกรรมการกำหนด จำเป็นต้องยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับมาตรฐานที่ของจากสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Institute of Standard and Technology : NIST) อาทิ การจัดทำประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น