คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ / ก๊วยเจ๋ง คนที่รักกันจะไม่รู้สึกว่าคนที่เรารักนั้นได้ตายจากไป ในตอนสายๆ ของวันที่ 9 ตุลาคม 2538 ผมขับรถไปทำธุระแถวสะพานควาย ขณะเปิดฟังวิทยุรับฟังข่าวสารทั่วๆ ไป ก็มีข่าวด่วนประกาศว่า “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถึงแก่อสัญกรรม” ผมรีบบึ่งไปที่โรงพยาบาลสมิติเวชในทันที ผมเข้าไปกราบที่ปลายเท้าของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แล้วยืนร้องไห้อยู่ข้างเตียงในห้องไอซียูอยู่เป็นนาน มีความรู้สึกเหมือนว่าได้สูญเสีย “ที่สุด” ในชีวิต และรู้สึกอยู่อย่างนั้นตลอดงานพิธีศพ จนวันที่ได้บวชอุทิศเป็นกุศลให้ท่านก็พอจะทำใจได้ กระทั่งได้ไปลอยอังคารเถ้าสรีระของท่าน ก็พอรับรู้ได้ว่าท่านได้ไปสู่สวรรค์แล้ว แต่ท่านก็ไม่เคยตายไปจากความทรงจำของผมมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าจะกล่าวถึง “ความเป็นที่สุด” ในชีวิตของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตามที่ผมได้รับรู้มาบางส่วน ร่วมกับที่สังคมไทยได้รับรู้อีกส่วนหนึ่ง ผมได้เขียนเป็นบทกลอนในสูจิบัตรเมื่อตอนที่บวชอุทิศเป็นกุศลในพิธีพระราชเพลิงศพของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2538 ไว้ว่า หนึ่ง ทางส่วนตัวปกติมีถูกผิด สอง ทั้งชีวิตอุทิศแท้แก่ในหลวง สาม จิตใจท่านเมตตาล้นคนทั้งปวง สี่ ท่านรู้ล่วงแล้วสอนสั่งอย่าง “ครูแท้” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดอยู่เสมอๆ ว่า ท่านก็เป็น “คนธรรมดา” คนหนึ่ง เป็นปกติเหมือนกับคนทั่วๆ ไป ซึ่งก็ย่อมจะทำอะไรถูกบ้างผิดบ้างเป็นธรรมดา ท่านยังสั่งผมด้วยว่า ถ้าผมจะเขียนถึงท่าน อย่าได้สรรเสริญเยินยอจนเกินไป เพราะคนที่ไม่ชอบท่านเขาอาจจะหมั่นไส้ แต่คนที่รู้จักกับท่านก็จะทราบเอาเองว่า ท่านเป็นคนอย่างไร ส่วนคนที่ไม่รู้จักแล้วไปร่ำลือเอาเองต่างๆ นานา ก็เป็นสามัญของโลก ไม่ต้องไปสนใจอะไร ในเรื่อง “ทั้งชีวิตอุทิศแท้แก่ในหลวง” สังคมไทยคงมีความเห็นเช่นเดียวกับผม โดยที่ท่านได้ชื่อว่าเป็น “กษัตริย์นิยม” ขนานแท้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำมาในชีวิตตราบจนวาระสุดท้ายนั้น ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ทั้งสิ้น สำหรับ “ความเมตตา” ก็เป็นคุณธรรมประจำตัวของท่านที่คนทั้งหลายซึ่งได้รู้จักกับท่านย่อมตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี รวมทั้งตัวผมเองที่เป็นตัวเป็นตนมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะได้ท่านส่งเสริมมาโดยตลอด แม้ว่าท่านจะสิ้นไปแล้ว บารมีของท่านก็ยังแผ่คุ้มหัวผมอยู่เสมอ และที่สุดในความเป็นตัวของท่าน “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” นั้นก็คือ “ความเป็นครู” ที่ท่านได้ให้ทั้งความรู้ การสร้างแรงบันดาลใจ และผลงาน มอบไว้แก่คนไทยมาในระยะหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งก็ยังสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ และจะยังสืบต่อไปถึงในอนาคตนั้นด้วย ดังที่ผมเขียนกลอนไว้ในสูจิบัตรฉบับเดียวกันนั้นว่า บารมีบรรลุเลิศเกิดทุกด้าน วิชาชีพวิชาการผลงานเห็น “บรมครู” ในทุกทางอย่างที่เป็น นิยามเน้นคำว่า “ค่าของคน” ถ้าจะถามผมว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้อะไรที่เป็น “สุดยอดวิทยายุทธ์” แก่ผม สำหรับผมเองในความรู้สึกส่วนตัว สิ่งนั้นก็คือ “ปัญญา” ดังวิธีการที่ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่างคือ ฟังให้มากอ่านทุกวันหมั่นปุจฉา เมื่อรู้มาจงถ่ายทอดอย่ากอดอยู่ ทำเข้าเถิดอย่างที่คิดผิดเป็นครู อย่าลบหลู่ว่าใครด้อยน้อยกว่าเรา ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้ที่แสวงหา “ปัญญา” อยู่โดยตลอด ในทุกห้วงทุกกิจกรรมของชีวิต ซึ่งผมได้เขียนเป็นกลอนไว้ว่า หนังสือพิมพ์โทรทัศน์วิทยุ จงบรรจุเจาะ “ข่าว” เข้าสมอง “วิชาการ – สารคดี” นี้ขุมทอง และที่ต้องเติมทุกวันคือ “บันเทิง” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังมอบสุดยอดวิทยายุทธ์อีกอย่างหนึ่งให้แก่ผมและทุกๆ คนด้วย นั่นก็คือท่านมักจะบอกกับผู้คนทั้งหลายว่า “จงใช้ชีวิตให้คุ้มค่า” ในทุกช่วงเวลาของชีวิต จะเด็กสาวเฒ่าแก่แค่ตัวเลข มิอาจเสกคืนวันหันคืนได้ แต่ละช่วงปวงชีวิตคิดรู้ใช้ อย่างเต็มที่อย่าเสียดายให้มันคุ้ม หลายๆ ท่านอาจจะไม่ได้รู้จักกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อย่างสนิทสนมเหมือนกับผมและลูกศิษย์ลูกหาของท่าน แต่ส่วนหนึ่งก็รู้จักท่านผ่าน “ตัวอักษร” ทั้งจากคอลัมน์หนังสือพิมพ์ นวนิยาย และงานเขียนต่างๆ ของท่าน ซึ่งไม่เป็นที่แปลกใจเลยที่ทุกคน "คลั่งไคล้" ในตัวท่านมาก เพราะท่านเป็น “สุดยอดนักเขียนในดวงใจ” ของคนเหล่านั้น จากความสามารถในการเขียนที่ไม่มีใครลอกเลียนได้ เขียนเหมือนพูดขุดหัวใจใส่กระดาษ เขียนเหมือนวาดภาพไปในอักษร เขียนเหมือนโรยมนตราพาเขจร เขียนเหมือนป้อนทิพยาพาติดใจ ผมขอจบบทความชุด “คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์” ด้วยกลอนที่กล่าวถึง “ความมุ่งหวังสูงสุด” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่มีต่อสังคมไทย ตลอดจนญาติมิตรและตัวท่านเอง ไว้ให้เราทั้งหลายได้ระลึกถึงท่านว่า หวังพระองค์ทรงฉัตรยืนหยัดหล้า หวังประชาผาสุกทุกข์เหือดหาย หวังญาติมิตรบริวารสำราญกาย หวังตัวตายพบพลันสันติธรรม บัดนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คงไปสถิตอยู่ ณ สัมปรายภพอันสุขสงบนั้นแล้ว แต่ชื่อเสียงของท่านนั้นยังคงเป็นที่จดจำอย่างไม่เสื่อมสูญ ด้วย “คุณค่า” ต่างๆ มากมายที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้สร้างไว้ให้แก่โลกนี้ คึก ปึกปักแน่นดังแผ่นหิน ฤทธิ์ ติดแผ่นดินไม่สิ้นสูญ ปรา ตราชื่อเลื่องเรืองจำรูญ โมช โยชน์ยาวพู้นทูนเทิดนามฯ