"สมคิด"มอบนโยบาย “กฟผ.”เร่งดันเศรษฐกิจฐานรากให้ศึกษาโครงสร้างค่าไฟเฉพาะช่วยผู้มีรายได้น้อย-ผู้ประกอบการรายเล็กลดต้นทุน ลุยโรงไฟฟ้าชุมชน และรุกธุรกิจรับยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) เร่งรัดลงทุนรับบาทแข็ง “สนธิรัตน์”รับลูกทำแผนลดค่าไฟฟ้าเป็นพิเศษแก่เอสเอ็มอี-ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ว่า ได้มอบนโยบายให้ กฟผ.ช่วยดูแลค่าไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ตลอดจนช่วยดูแลชุมชนควบคู่กันไปด้วย รวมถึงให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งรวมถึง กฟผ.เร่งการลงทุนในช่วงเวลาที่เงินบาทแข็งค่าเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาพรวม กฟผ.มีผลประกอบการที่แข็งแรงอยู่แล้ว ก็จะสามารถเข้ามาดูแลในเรื่องเหล่านี้ได้ โดยวันนี้มาคุยหลายเรื่อง หลักๆคือค่าไฟอยู่ได้ และช่วยคนจนได้มากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าค่าไฟในระยะสั้นจะขึ้น รัฐบาลดูแลประชาชนอยู่แล้ว ไม่ทำอะไรให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้าไม่จำเป็นปีนี้ให้ กฟผ.ลงทุนให้เยอะ เพราะมีการลงทุนหลายอย่าง การลงทุนในชุมชนทำได้เลย โครงสร้างพื้นฐานทำได้เลย ไม่ต้องรอช้า เพราะขณะนี้งบประมาณเรายังไม่ผ่านสภาฯ จะเอาแรงที่ไหนไปขับเคลื่อน กฟผ.ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจก็จะเป็นมือเป็นไม้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"นายสมคิด กล่าว ทั้งนี้จากการได้รับฟังข้อมูลของ กฟผ.ในวันนี้ ทำให้รับรู้ว่า กฟผ.ได้ก้าวข้ามจากการผลิตไฟฟ้าธรรมดา ไปสู่พลังงานแห่งอนาคตและนวัตกรรมต่างๆ แต่เรื่องการผลิตไฟฟ้า กฟผ.ยังต้องเป็นหลักที่มั่นคง และสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางขณะนี้ยังมั่นใจว่ากระทรวงพลังงานดูแลอย่างเพียงพอ ทำให้น่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าน้อยมาก ซึ่งขอให้ กฟผ.ช่วยดูแลค่าไฟฟ้าให้ทรงตัวในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะประชาชนผู้ยากไร้ขอให้ กฟผ.ดูแลเพิ่มเติม ซึ่งคงต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ในอนาคต กฟผ.มีแผนที่จะรุกตลาดของ CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา,ลาว,เมียนมา และเวียดนาม และอีก 1 ประเทศคือ มาเลเซีย ซึ่งในอนาคต 4-5 ประเทศนี้นับว่าเป็นตลาดของ กฟผ. และ กฟผ.สามารถแข่งขันทุกประเทศ เช่น แข่งขันกับผู้ประกอบการจีนในลาว,กัมพูชา,เมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูง ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากก็เป็นโอกาสของ กฟผ. เพียงแต่โครงสร้างของ กฟผ.ต้องปรับเพื่อให้รุกสู่ตลาดเหล่านี้ได้อย่างมีความแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน กฟผ.มองถึงกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคตที่มีความสนใจได้แก่ พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งได้แนะนำให้ กฟผ.หาพันธมิตรที่เหมาะสมเพื่อร่วมกันเข้าสู่ธุรกิจนี้ ด้านพลังงานชุมชน กฟผ.พร้อมที่จะเข้าไปลงทุน เพราะหนึ่งภารกิจของ กฟผ.เพื่อให้ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น ดังนั้น กฟผ.ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)และประชาชนในพื้นที่ในการทำไฟฟ้าชุมชนสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดรายได้มหาศาล นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อให้ใช้ค่าไฟฟ้าถูกลง ซึ่งจะต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป โดยในส่วนของผู้มีรายได้น้อยที่ปัจจุบันรัฐบาลให้การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้วจะหาแนวทางที่จะช่วยเหลือเพิ่มอีกได้หรือไม่ต่อไป ส่วนการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เพราะตระหนักถึงความสำคัญของต้นทุนพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่คือค่าไฟฟ้าก็ต้องพิจารณาว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือได้อย่างไรบ้างต่อไป วิธีการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ขอหารือกันก่อน ยังไม่มีคำตอบในขณะนี้ แต่เบื้องต้นยังคงตรึงค่าไฟฟ้าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ไว้อยู่ นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า แผนการลงทุนของ กฟผ.ในปี 63 อยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ กฟผ.ได้ประมูลงานต่างๆตามแผนการลงทุนในปีนี้ไปแล้ว ดังนั้นจะนำงบประมาณในปี 64 ที่มีแผนลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาทขึ้นมาพิจารณาว่าจะสามารถเร่งรัดการลงทุนในส่วนใดได้บ้าง ซึ่งในปี 64 จะมีการลงทุนทั้งในส่วนของสายส่ง,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกง สำหรับแผนลงทุนระยะยาวของ กฟผ.จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 8 โรง รวมกำลังการผลิต 5,400 เมกะวัตต์(MW) ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยจะทยอยนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่ออนุมัติก่อสร้างและทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 68-72 โดยโรงไฟฟ้าใหม่แห่งแรกจะเข้าระบบในปี 68 ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง,โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 2 หน่วย