วันนี้ (8 ม.ค.63) นำโดยนายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง นายศานติ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ กยท.สาขาทุกสาขาในจังหวัดยะลา และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ผนึกกำลังกันลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ณ พื้นที่แปลงยางเกษตรกร หมู่ที่ 9 ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งประสบปัญหาโรคใบร่วงในยางพาราสายพันธุ์ใหม่ โดยการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อด้วยสารเคมี เช่น เบโนมิล, แมนโคเซป, สารกลุ่มไตรอะโซล, ไทโอฟาเนต-เมธิล และสารชีวภัณฑ์ ด้วยเครื่องพ่นทั่วไปและการใช้เครื่องพ่นแรงดันสูงเพื่อรักษาและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงสายพันธุ์ใหม่ในยางพาราให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งถือเป็นโรคใหม่ที่มีการระบาดค่อนข้างรุนแรงในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และกำลังซ้ำเติมปัญหาให้กับชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำอยู่แล้วเป็นอย่างมาก นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง อธิบายว่า เชื้อรา Pestalotiopsis sp. แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมด้านภูมิอากาศในพื้นที่นี้อยู่ในเขตร้อนชื้น และในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน มีความชื้นสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรค จึงทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว นายสุรชัย ยังกล่าวอีกว่า อาการของโรคปรากฏบนใบแก่ ลักษณะเป็นแผลกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 0.5 เซนติเมตร เริ่มแรกอาการบนใบเป็นรอยสีเหลือง ค่อนข้างกลม และต่อมาจะตายแห้ง เป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยจะพบบนใบมากกว่า 1 แผล และต่อมาใบจะร่วงในที่สุด จะทำให้ใบแก่ร่วงอย่างรุนแรงในยางพาราทุกพันธุ์ โดยเฉพาะสวนยางใหญ่ ทำให้ใบยางร่วงอย่างรุนแรงจนถึงร่วงหมดทั้งต้น ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อต้นยางผลิใบใหม่ พอใบยางแก่เต็มที่ และมีสภาพอากาศที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุ ก็จะทำให้เกิดอาการใบร่วงเช่นเดิมอีก และอาจทำให้กิ่งเล็กๆ แห้งตายได้ นายสุรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง เจ้าหน้าที่กำลังเร่งทำงานโดยการสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีและสารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดและควบคุมโรคใบร่วงในยางพาราสายพันธุ์ใหม่ในสวนยางพาราที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาและป้องกันกำจัดโรค รวมทั้งการให้ปุ๋ยบำรุงรักษาต้นยางพาราเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ต้นยางเพื่อให้ต้นยางสามารถสร้างใบใหม่ออกมาทดแทนใบยางที่ร่วงได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ ผศ.ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดเผยว่า สารชีวภัณฑ์ที่สกัดจากพืชที่ได้จากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อ​ ป้องกัน​ และรักษา​ สารชีวภัณฑ์นี้ปลอดภัยต่อเกษตรกรและไม่มีการตกค้างในต้นยาง สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกรทำด้วยตัวเองและมีต้นทุนต่ำ สารชีวภัณฑ์ผ่านการศึกษาและวิจัยทั้งในห้องปฏิบัติการและระดับแปลง​ สารชีวภัณฑ์จะมีกลไกการเข้าทำลายเชื้อ​ Pestalotiopsis​ sp. โดยรากยางพาราจะดูดซึมสารชีวภัณฑ์เพื่อกำจัดเชื้อก่อโรคจากภายในต้น และมีผลต่อการป้องกันต้นยางพาราด้วย สารชีวภัณฑ์จะทำงานในเชิงสร้างภูมิต้านทานให้กับต้นยางทั้งยางที่ติดโรคและไม่ติดโรคให้มีความแข็งแรงและต้านนโรคได้เมื่อมีการแพร่ระบาดอีกครั้ง ซึ่งจากการทดสอบที่ผ่านมามีผลต่อการรักษาโรคใบยางร่วงและมีความสำเร็จไปแล้วมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทดสอบในสภาพแปลงจริง