ผู้ว่า ธปท.ระบุถสถานการณ์มะกัน-อิหร่านกระทบค่าเงินบาท แนะบริหารสต๊อกน้ำมันให้ลงตัวจะเป็นประโยชน์ ชี้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ย้ำดำเนินแนวทางนโยบายการเงินตามเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ ตลาดมีความสมดุลมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่ง ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยอมรับว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในแต่ละปี และระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงพลังงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ โดยสถานการณ์นี้กระทบค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาค และส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้มองว่า เป็นโอกาสและจังหวะที่เหมาะสมในการบริหารน้ำมันสำรองให้เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่ากระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แม้ว่าภาพรวมเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยไม่ได้เปราะบาง แต่มูลค่านำเข้าที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง อย่างไรก็ตามการที่ไทยยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ มีข้อดีคือทำให้สามารถนำเข้าพลังงานได้เพิ่มมากขึ้นหากเกิดความไม่แน่นอนของตลาดพลังงานในอนาคต ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มมองว่า เงินบาทไม่ได้เป็น Safe Haven แล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรยังอยู่ระดับต่ำ รวมทั้งการที่ไทยยังพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ซึ่งหากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านมีมากขึ้นจะยิ่งกระทบกับแหล่งรายได้ต่างประเทศที่สำคัญของไทย พร้อมมองว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และยังดำเนินแนวทางนโยบายการเงินตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดย ธปท.ยืนยันว่าการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะยึดหลัก Data Dependent โดยจะประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา และดูความเสี่ยงในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจต่างไปจากที่ ธปท.ได้ประเมินไว้ ก็พร้อมจะใช้เครื่องมือด้านนโยบายเพิ่มเติม นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ธปท.ประเมินเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพและต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากการส่งออกสินค้าที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดเป็นสำคัญ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากการเลื่อนลงทุนของรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวจากรายได้และการจ้างงานที่ลดลง โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อส่งออก หนี้ครัวเรือนในระดับสูง และผลกระทบของภัยแล้ง ส่วนด้านการส่งออกที่หดตัวเริ่มส่งผลกระทบตลาดแรงงานที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากการปรับลดแรงงานของนายจ้างที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราวมีทิศทางสูงขึ้น รายได้และค่าล่วงเวลาของแรงงานนอกภาคการเกษตรปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งพบว่านายจ้างปรับรูปแบบการจ้างงานเป็นรายวันมากขึ้น ส่วนการส่งออกปี 2563 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของปริมาณการค้าโลก อย่างไรก็ดี ขณะที่ตลาดแรงงานต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้มีแรงงานลดลง ผู้ประกอบการเริ่มนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ และการเข้ามาของ ดิจิตอลแพลตฟอร์ม ทำให้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย ปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากเดิมที่คาดร้อยละ 1.0 จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564