นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.ได้จัดสัมมนาหัวข้อ "สมาร์ทกริด(Smart Grid)ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต" อย่างต่อเนื่องทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และกระจายสู่ต่างจังหวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้และแนะแนวทางภาคประชาชนในการเปิดรับ Disruptive Technology ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งความสำคัญในภาพใหญ่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย ตามแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศที่กำหนดไว้ในระยะยาว 20 ปี(พ.ศ.2558-2579) ซึ่งความสำคัญของระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดนี้ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP2018 ทั้งนี้ล่าสุด สนพ.ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดสัมมนาให้ความรู้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดให้กับภาคประชาชนในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับความสามารถของระบบไฟฟ้า(Smart System) ยกระดับคุณภาพบริการทำให้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกสบายขึ้น (Smart Life)และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Society) โดยการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการกระจายความรู้สู่ภาคประชาชนที่เป็นเป้าหมายหลัก เพราะถือเป็นผู้ใช้พลังงานโดยตรง และยังเป็นภาคส่วนที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้ สำหรับเทคโนโลยีพลังงานที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พฤติกรรมการใช้พลังานของผู้คนเปลี่ยนไป จากสถิติความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่จำนวนการซื้อไฟจากหน่วยงานการไฟฟ้าฯ เองกลับยังทรงตัว สะท้อนให้เห็นว่ามีกลุ่มผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือที่เรียกว่า Prosumer มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะผลิตใช้เองได้แล้วยังสามารถขายไฟให้พื้นที่ใกล้เคียง หรือขายเข้าระบบของการไฟฟ้าได้อีกด้วย เพราะขณะนี้ภาครัฐมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในระดับประเทศและเจาะลึกไปยังภาคประชาชนเพราะเป็นระบบที่จะช่วยบริหารจัดการให้การใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเป้าหมายการพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริดที่สำคัญคือ 1.จะช่วยยกระดับความสามารถของระบบไฟฟ้า (Smart System) 2.ยกระดับคุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า(Smart Life) ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้นจากเทคโนโลยีการใช้พลังงานในอนาคต 3.จะช่วยยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Society) ทำให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้ารับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)