“สรท.”ห่วงตะวันออกกลางตึงเครียด ฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะส่งออก รับกังวลใจมากสุดคือ เงินบาทแข็งค่ามากเกิน ลดโอกาสส่งออกไทยอาจติดลบถึงร้อยละ 5 ซ้ำสงครามการค้ามะกัน-จีนจะออกรูปแบบใด เผยที่ผ่านมาดึงส่งออกจนติดลบ ลั่นสัปดาห์หน้า สรท.เข้าพบผู้บริหารแบงก์ชาติหารือปัญหาบาทแข็งค่า
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยว่า ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านขณะนี้ ภาคเอกชนมีความกังวลเป็นอย่างมาก แม้จะยังไม่เกิดสงครามแต่ถ้าหากรุนแรงและยืดเยื้อมากขึ้นจะกระทบภาครวมต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ประกอบกับในช่วงนี้ปัญหาค่าเงินบาทอยู่ในช่วงแข็งค่าขึ้น หลายฝ่ายมองว่าโอกาสค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกได้ ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างมากและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้หากความรุนแรงปัญหาสงครามระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านเกิดขึ้นจริงผลกระทบต่อไทยจะเกิดขึ้นต่อภาคการส่งออกสินค้าไทยไปทำตลาดในตะวันออกกลางอย่างมากได้ ซึ่งขณะนี้แผนการทำตลาดในตะวันออกกลางของไทยมีการวางแผนไว้แล้ว แต่หากสงครามเกิดขึ้นจะกระทบทั้งยอดส่งออกเพราะต้นทุนด้านส่งออกโดยเฉพาะในด้านราคาน้ำมันจะสูงขึ้น
โดยสิ่งที่ภาคเอกชนกังวลมากที่สุดคือ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะเข้ามาดูแลค่าเงินบาทบ้างแล้วก็ตาม แต่โอกาสที่ค่าเงินบาทของไทยในปีนี้ยังมีโอกาสที่แข็งค่าขึ้นอีกได้ ดังนั้นมองว่า หากค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.5-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โอกาสที่ภาคการส่งออกของไทยในปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 0-1 แต่หากเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯโอกาสที่ส่งออกของไทยจะติดลบถึงร้อยละ 5 ซึ่งถือว่าแย่สุด
ขณะเดียวกันสิ่งที่จะต้องดูติดตามในปีนี้คือ ทางออกของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะในปีที่ผ่านมาปัจจัยนี้ฉุดให้ภาคการส่งออกของไทยไม่ดีนักเห็นได้จากตัวเลขส่งออกในเดือนพ.ย.62 พบว่า มีมูลค่า 19,656 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหดตัวลดต่อเนื่องถึงร้อยละ 7.39
สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าการค้ารวม 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังหดตัวร้อยละ 2.77 และมองว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนธ.ค.62 น่าจะมีโอกาสติดลบอีกได้ ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกในปี 2562 น่าจะติดลบร้อยละ 2.5-3 และสิ่งที่ สรท.ต้องการให้แก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าคือ อำนวยความสะดวกการใช้บัญชี FCD สำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการภายในประเทศ และบริหารจัดการค่าธรรมเนียมทางการเงินให้กับภาคเอกชนต่อการส่งออก ซึ่งสัปดาห์หน้า สรท.จะเข้าพบผู้บริหาร ธปท.เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท