หากกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปีนี้เมื่อก้าวเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2562/2563 (1 พฤศจิกายน 2562 - 30 เมษายน 2563) มีความคล้ายคลึงกับฤดูแล้ง 2561/2562 คือ ปริมาณน้ำน้อย และฤดูฝน ก็เช่นเดียวกันที่ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย และอาจมีฝนทิ้งช่วงยาว ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลไม่น้อยทีเดียว ที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่เหล่านี้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคที่ต้องมาก่อนกิจกรรมอื่น เนืองจากกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ต่อด้วยน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ แล้วค่อยมาเป็นน้ำเพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม จากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ปริมาณน้ำต้นทุนที่น้อยเป็นทุนเดิม แถมฝนยังทิ้งช่วงอีก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช. ) โดย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำตลอด ได้ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องครั้งสุดท้ายของปี 2562 เมื่อ 27 ธันวาคม 2562 เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำตลอดทั้งปี 2562 และพยากรณ์สถานการณ์น้ำในปี 2563 เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์แล้งในปีนี้ “ข้อมูลจากหน่วยงานเกี่ยวข้องสอดคล้องกันหมดว่า ฤดูแล้งจะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำในวงกว้าง ในขณะเดียวกัน การพยากรณ์ฤดูฝนในปี 2563 ก็พบว่า ปริมาณฝนน้อยเหมือนปีก่อน และมีฝนทิ้งช่วงนานเช่นเดียวกัน หรืออาจถึงขั้นต้องประกาศเลื่อนเวลาทำนาปี” ดร.สมเกียรติกล่าว ช่วงฤดูแล้งฝนตกน้อยตามชื่ออยู่แล้ว มีเฉพาะเขตภาคใต้ที่ฝนเข้ามาปลายปี โดยช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านมา แม้ฝนจะตกมากจนเกิดน้ำท่วมก็เป็นพื้นที่ติดชายแดนมาเลเซีย ภาคใต้ปีนี้จึงประสบปัญหาภัยแล้งด้วยเช่นกัน ที่มีปริมาณน้ำเป็นน้ำเป็นเนื้อ เป็นภาคตะวันตกแห่งเดียว ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณเป็นที่พึ่งให้กับพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับการผลิตน้ำประปาคลองมหาสวัสดิ์และใช้สะกัดกั้นผลักดันน้ำเค็มบริเวณคลองบางกอกน้อยไม่ให้กระทบแหล่งน้ำดิบของการประปานครหลวง ที่ ต.สำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี “ปีนี้ภัยแล้งรุนแรงพอๆ กับปี 2558 ทั้งเรื่องปริมาณน้ำและการรุกล้ำของน้ำเค็มมาเร็วและรุนแรงมากกว่าปี 2558 การประปานครหลวงกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ต้องทำแผนร่วมกันให้ชัดเจนเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้ ซึ่ง สทนช. จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและเป็นรูปธรรม” ข้อมูลสถานการณ์น้ำของ สทนช. บ่งชี้ภัยแล้งได้ดีทีเดียว โดยพบว่า แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 14 แห่ง จาก 38 แห่ง และขนาดกลาง 91 แห่ง จาก 354 แห่ง มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 11 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนหนองปลาไหล แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 27 แห่ง และขนาดกลาง 213 แห่ง มีปริมาณน้ำ 30-80% อันนี้ก็ยังแค่ประคับประคองตัวเองได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแห่งมีปริมาณน้ำมากน้อยระดับใดในช่วงระหว่าง 30 - 80% ที่มีความมั่นคงสูงต้องมีปริมาณน้ำ 80 - 100% ซึ่งมีแหล่งน้ำขนาดกลาง 68 แห่ง แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง และมีน้ำมากกว่า 100% เป็นแหล่งน้ำขนาดกลาง 5 แห่ง ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เลย แหล่งน้ำขนาดกลางแม้จะมีจำนวนมากถึง 354 แห่ง แต่นิยามความจุของแหล่งน้ำขนาดกลางมีตั้งแต่ 2 -100 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นความจุรวมจึงไม่ได้มาก พื้นที่ส่งน้ำก็มีจำกัด ผิดกับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ความจุเกินกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. ขึ้นไปทำหน้าที่เป็นตัวหลักในพื้นที่ชลประทานในทุกวันนี้ ปัญหาภัยแล้งเริ่มชัดเจนตามลำดับ พื้นที่การเกษตรหลายจังหวัด เริ่มมีภาพการขาดแคลนน้ำ ต้นข้าวเริ่มยืนต้นตาย บางแห่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศงดทำนาปรัง เพื่อรักษาน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการทำนาปรังมากร่วม 3 ล้านไร่ ซึ่งเชื่อว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 มีโอกาสขาดแคลนน้ำค่อนข้างแน่นอน ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความแห้งแล้งหนักมือยิ่งขึ้น ลมหนาวปลายปีและอาจขยายถึงต้นปี มีส่วนทำให้น้ำในแหล่งน้ำระเหยได้เร็วขึ้นและมากขึ้น สทนช. ยังมองข้ามถึงฤดูฝน 2563 ข้อมูลจากหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่ว่า กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ล้วนให้คำยืนยันเหมือนกันว่า ปริมาณฝนน้อยไม่ต่างจากปีกลาย และฝนจะทิ้งช่วงยาวไม่น้อยกว่า 2 เดือน เช่นกัน ทำให้ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลักไปเป็นเดือนกรกฎาคม จากปกติจะเริ่มทำนาปีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นข้อมูลและภาพรวมสถานการณ์น้ำของประเทศที่ทุกภาคส่วนต้องตรียมการรับมือ ไม่ตระหนัก แต่ควรตระหนัก โดยเฉพาะประชาชนคนไทยทุกคนในการ “ประหยัดน้ำ” เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ยากที่จะลงมือทำ