สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ได้โพสต์ข้อมูลความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่อง“คลื่นทะเล”ว่า ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวทั้งสิ้นประมาณ 3,151.13 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด แบ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยยาวประมาณ 2,039.78 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามันยาวประมาณ 1,111.35 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด มีทั้งหาดหิน หาดทราย และหาดเลน ซึ่งก็มีสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงแตกต่างกันไป สาเหตุจากทั้งฝีมือมนุษย์ เช่น การพัฒนาชายฝั่ง การทำลายป่าชายเลน เป็นต้น และปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ลม กระแสน้ำ และ คลื่นทะเล เป็นต้น คลื่นทะเล เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นผลจากการเคลื่อนไหวของน้ำทะเล โดยมีสาเหตุทั้ง เกิดจากลม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด แผ่นเปลือกโลกใต้ท้องทะเล แรงดึงดูดจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เป็นต้น หรืออีกแง่มุมของคนทั่วๆไป “คลื่น” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สร้างแรงดึงดูดให้หลายๆคนอยากออกไปชื่นชม เพื่อสร้างความผ่อนคลาย แต่ในมุมมองของนักอนุรักษ์ “คลื่น” คือ เป็นตัวการสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดกัดเซาะบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จากการสำรวจตามแนวชายฝั่ง ในปี พ.ศ.2560 พบพื้นที่ถูกกัดเซาะเป็นระยะทางทั้งหมด 704.44 กิโลเมตร หรือ 22.4%ของแนวชายฝั่งทะเลทั้งหมดแบ่งเป็น ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 619.71 กิโลเมตร ( 30%ของแนวชายฝั่งอ่าวไทย) และฝั่งอันดามันประมาณ 84.73 กิโลเมตร (7.6%ของแนวชายฝั่งอันดามัน) ประมาณ 80% ของพื้นที่ถูกกัดเซาะทั้งหมดได้มีการดำเนินการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เพื่อป้องกันปัญหาภายในอนาคตไม่ให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของคลื่นทะเลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คนไทยทุกคนต้องมีข้อมูลจากระบบเรดาร์ชายฝั่ง จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรมคลื่นทั้งในทะเลและบริเวณชายฝั่ง รวมถึงลักษณะการไหลเวียนของกระแสน้ำบริเวณผิวหน้าทะเล ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การวิเคราะห์การแพร่กระจายของตะกอนหรือมลพิษจากแผ่นดินที่ลงสู่ทะเล เป็นต้น งานด้านควบคุมมลพิษและเฝ้าระวังทางทะเล เช่น การคาดการณ์ทิศทางของน้ำมันที่รั่วในทะเล หรือตรวจสอบย้อนหลังถึงจุดที่น้ำมันถูกพัดพามาก่อนที่จะมีการตรวจพบ ด้วยข้อมูลทิศทางของกระแสน้ำที่บันทึกในระบบ เป็นต้น ระบบเรดาร์ เป็นระบบที่ใช้คลื่นวิทยุเป็นเครื่องมือในการระบุระยะ ความสูง รวมถึงทิศทางหรือความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุ โดยใช้เครื่องส่งสัญญาณที่ปล่อยคลื่นวิทยุที่เรียกว่าสัญญาณเรดาร์ออกมาในทิศทางที่กำหนดไว้ เมื่อคลื่นวิทยุสัมผัสกับวัตถุมักจะสะท้อนกลับหรือกระจายไปหลายๆทิศทาง ที่ผ่านมา จิสด้าได้ติดตั้งระบบเรดาร์ชายฝั่งแล้วจำนวน ทั้งสิ้น 23 สถานี แบ่งเป็นระบบตรวจวัดแบบ High Frequency (HF) จำนวน 18 สถานี และระบบแบบ X Band จำนวน 5 สถานี ในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ข้อมูลที่ได้จากระบบเรดาร์ชายฝั่งทั้งข้อมูลคลื่นและกระแสน้ำจะถูกประมวลผล และแสดงในรูปแบบแผนที่ อัพเดททุกๆ 1 ชั่วโมง ในระบบ HF มีความละเอียดประมาณ 2 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4-60 กิโลเมตร ส่วนระบบ X Band มีความละเอียดประมาณ 100 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 0.5 - 3 กิโลเมตร และในระบบ X Band ยังสามารถตรวจวัดความลึกพื้นท้องทะเลได้อีกด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน ระบบเรดาร์ชายฝั่งสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องในการเฝ้าระวังทะเลอ่าวไทยของเรา โดยล่าสุดได้วิเคราะห์สถานการณ์เรือน้ำมันเตารั่ว บริเวณปากร่องแม่น้ำเจ้าพระยาที่พบบนภาพถ่ายจากดาวเทียม Cosmo Skymed บันทึกภาพ ณ วันที่ 4 ธ.ค.2562 จากนั้นระบบเรดาร์ชายฝั่งสามารถคาดการณ์การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมัน พบว่าถัดไปอีก 1 วัน หรือในวันที่ 5 ธ.ค. 62 คราบน้ำมันมีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทางประมาณ 5 ก.ม. จากตำแหน่งเดิม ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในการวางแผนการเก็บกู้คราบน้ำมันต่อไป อีกกรณี เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 62 มีรายงานพบคราบน้ำมันถูกคลื่นซัดเข้าหาชายฝั่งบริเวณ หลังหมู่บ้านคาซาลูน่า ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี ระบบเรดาร์ชายฝั่งได้ทำการวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์หาที่มาของคราบน้ำมันด้วยข้อมูลกระแสน้ำ วิเคราะห์ด้วยวิธีแบบตรวจสอบย้อนกลับ 72 ชั่วโมง พบว่าที่มาของคราบน้ำมันดิบน่าจะมาจากบริเวณนอกอ่าว ห่างจากชายฝั่งประมาณ 4-5 กิโลเมตรในทางทิศตะวันตก ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงตามแนวชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ระบบเรดาร์ชายฝั่งได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของคลื่นทะเลและการหมุนเวียนของกระแสน้ำบริเวณใกล้ชายฝั่งที่จะส่งผลโดยตรงกับการกัดเซาะ นำไปสู่การออกแบบแนวกันคลื่นที่สามารถรับมือกับคลื่นบริเวณนั้นได้ และออกแบบระบบติดตามการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อให้ทราบว่าแต่ละปีมีการกัดเซาะชายฝั่งตรงไหนและรุนแรงเพียงใด อ้างอิง: สถานการณ์ชายฝั่งและการจัดการปัญหา การกัดเซาะชายฝั่งจากอดีตถึงปัจจุบัน, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง