เมื่อกล่าวถึงสะพานข้ามแม่น้ำเข้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทุกแห่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรถยนต์ไม่ใช่เพื่อคนเดินถนน แม้ว่าหลายสะพาน อาทิ สะพานพุทธ สะพานพระราม8สะพานกรุงธน สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า จะใจดีแบ่งพื้นที่เล็กน้อยเพื่อให้คนเดินข้ามได้บ้าง แต่บรรยากาศก็ไม่ค่อยจะรื่นรมย์ ชมวิวสักเท่าไหร่ และที่ร้ายและเลี่ยงไม่ได้เลยคือ ควันพิษที่เราต้องสูดดมเข้าไป ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนเมือง
แต่อีกไม่นานนี้ คนกรุงเทพฯจะได้ยลโฉมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทำเพื่อคนเดินข้ามอย่างแท้จริง ความยาวกว่า 280เมตร สำคัญคือไม่ได้มีไว้เดินอย่างเดียวยังเป็นสวนลอยฟ้าให้เราได้แวะเวียนไปชมวิวทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถ่ายรูป ปั่นจักรยาน ผักผ่อนหย่อนใจ เช็คอินแลนด์มาร์คแห่งใหม่
“พระปกเกล้า สกายปาร์ค” คือสะพานที่ว่านั่นเอง ซึ่งเป็นทางเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มาพร้อมกับ “สวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรก” ของกรุงเทพมหานคร ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กรมทางหลวงชนบท และกรมเจ้าท่า และอีกหลายภาคส่วน ที่ร่วมกันเนรมิตสวนลอยฟ้าและทางเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งพระนครไปย่านฝั่งธนบุรีได้อย่างกลมกลืนลงตัว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563
แต่ใครจะรู้ว่าที่จริงแล้ว กรุงเทพมหานครมีหนึ่งโปรเจ็กต์แฝดเป็นทางเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน ตรง ท่าศิริราช-ท่าพระจันทร์ ที่เกิดตั้งแต่ปี 2554 ในสมัยที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้วเพราะอะไรในสมัยของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันถึงยกเลิก ทั้งๆ ที่เสียเงินงบประมาณในการจ้างที่ปรึกษาไปแล้ว 50 ล้านบาท และผลักดัน “พระปกเกล้า สกายปาร์ค” แทน
มาทำความรู้จักโครงการกันอย่างละเอียดจาก นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ได้นำร่องโครงการพัฒนาตามผังแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยมีแนวคิดปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่สร้างค้างไว้ในอดีต หรือที่เรียกว่า สะพานด้วน ที่เกิดมาพร้อมกับสะพานพระปกเกล้า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527
อยู่บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า ไม่มีทางขึ้นทางลง ที่คนย่านฝั่งธนบุรีเห็นจนชินตา ซึ่งถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปี ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า ที่มีทางเดิน และทางจักรยานอยู่ด้วย เพื่อเชื่อมต่อระบบการสัญจรระหว่างชาวฝั่งธนบุรีเข้ากับชาวฝั่งพระนคร ระยะทาง 280 เมตร ท่ามกลางสีเขียวของต้นไม้และพืชพันธุ์ที่ให้ความร่มรื่นตลอดเส้นทางสัญจร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ และเมื่อสะพานแห่งนี้ สร้างเสร็จเรียบร้อย ทุกคนสามารถเข้ามานั่งพักผ่อนหย่อนใจ ชมวิวสวย ๆ ของกรุงเทพมหานคร หรือเดินออกกำลังกายสบายๆ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ ที่ให้ความร่มรื่นและเย็นสบายไปตลอดเส้นทาง
อีกทั้งก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและสาธารณะอย่างกว้างขวาง ทั้งสร้างทางเลือกในการสัญจรข้ามแม่น้ำ ด้วยการเดินและจักรยาน สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างเสริมสุขภาวะของเมือง ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ มีจำนวนมาก ได้แก่ ประชาชนทั่วไป ชาวย่าน นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่โดยรอบบริเวณ2ฝั่งแม่น้ำที่มีมากถึง25แห่ง
ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กับย่านเก่าทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะการเชื่อมต่อทางสัญจรสู่พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณคลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ อาทิ บริเวณคลองโอ่งอ่าง ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับภูมิทัศน์โดยกรุงเทพมหานคร และย่านอื่นๆ อาทิ คลองถม สะพานหัน พาหุรัด ปากคลองตลาด และถือเป็นการสร้างภูมิสัญลักษณ์ (landmark) ใหม่ที่มีชีวิตชีวาและความหมายให้แก่ย่านเมืองเก่าทั้งสองฝั่งแม่น้ำ
แตกต่างจากโครงการสร้างทางเดินลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าศิริราช-ท่าพระจันทร์ ซึ่งแม้ว่าจะมีรูปแบบและจุดประสงค์ที่คล้ายกันเป็นทางเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มีทางจักรยานให้ได้สัญจร แต่กลับแตกต่างในด้านของโครงสร้าง ที่โครงการนี้จัดทำขึ้นใหม่เลย ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วเอามาปรับปรุงทำใหม่
ประกอบกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งยกเลิกโครงการไปเมื่อปี 2561 จะไม่มีการนำโครงการดังกล่าวขึ้นมาดำเนินการต่อ โดยพิจารณาจากการประเมินแล้วว่า ไม่มีความคุ้มค่าในการก่อสร้าง และจะเป็นการบดบังทัศนียภาพ ประกอบกับมีข้อท้วงติงว่าสะพานคนข้ามแห่งนี้อาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ลดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และในปัจจุบันมีบริการเรือข้ามฟากให้บริการอยู่แล้ว
“โครงการนี้ มีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ซึ่งต่างมองว่ายังไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้าง ซึ่งถ้าบอกว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณที่ใช้ศึกษาออกแบบไปแล้ว ก็ถือว่าใช่ เพราะกทม.ดำเนินการไปโดยลำพังไม่ได้มีการหารือกับทุกฝ่ายก่อน ทำให้หากจะเดินหน้าต่อก็จะเกิดปัญหา ประกอบกับมีการท้วงติงจากประชาชนด้วย กทม.จะไม่หยิบขึ้นมาทำต่อแน่ๆ อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาจราจรก็ควรทำ แต่หากทำแล้วใช้ได้แค่คนเดินข้าม แก้ปัญหาจราจรไม่ได้ ก็ยังไม่ควรทำ”
“มีความแตกต่างของ2โครงการนี้ในเรื่องโครงสร้างอย่างชัดเจน พระปกเกล้า สกายปาร์ค มันคือของที่เรามีอยู่แล้วมาปัดฝุ่นให้มันเกิดประโยชน์ หากจะรื้อทิ้งไปก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะโครงสร้างยังสามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และกทม.ไม่ได้เดินเรื่องนี้โดยลำพัง มีภาคีเครือข่ายที่จับมือร่วมพัฒนาพื้นที่ไปพร้อมกับ กทม.ด้วย ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน และทางจักรยาน
เชื่อมการสัญจรฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนคร ท่ามกลางสีเขียวของต้นไม้และพืชพันธุ์ที่ให้ความร่มรื่นตลอดเส้นทางสัญจร พร้อมชมวิวที่สวยงามข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าศิริราช-ท่าพระจันทร์ นั้นเป็นสิ่งใหม่เลยงบประมาณลงทุนสูงกว่า1,710ล้านบาท และยังมีข้อทักท้วงที่เราต้องฟังอีกมากถึงความเหมาะของโครงการ ข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้น ดังนั้น แม้จะเหมือนกันในรูปแบบการใช้งานแต่ความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นต่างกันมาก” นายศักดิ์ชัย กล่าว
ไม่ว่าโครงการไหนจะดีหรือไม่ดียังไง หากเกิดขึ้นแล้วประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่มากพอ การรอเวลาหรือถอยไปก่อนน่าจะเป็นทางออกที่ดี เราอาจไม่จำเป็นต้องเลียนแบบแลนด์มาร์คของต่างชาติที่มีรากการใช้ชีวิตที่ต่างจากเรา แต่เราสามารถสร้างแลนด์มาร์คที่เฉพาะเจาะจงความเป็นตัวเราได้ แต่ที่แน่ๆ ในปี 2563คนกรุงเทพฯจะมีสวนสาธารณะแห่งใหม่ที่มีรูปแบบที่แตกต่างออกไปเป็นสวนลอยฟ้าที่สามารถชมวิวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย