เป็นข่าวให้ได้ยินบ่อยครั้ง ทั้งขำและขำไม่ออก อันตราย กับการเดินทางโดยใช้แอพฯนำทาง GPS ที่มีข่าวว่าพาไปหลงอยู่บ่อยๆ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โพสต์เฟซบุ๊ก แนะนำการใช้ GPS อย่างไรไม่ให้หลงทาง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ที่เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่คิดพึ่งพาระบบนำทางนี้ โดยระบุ “ สมัยนี้เรามีตัวช่วย คือ จีพีเอส หรือบางคนก็อาจจะใช้แอพพลิเคชั่นแผนที่ออนไลน์ในมือถือมาเป็นผู้ช่วยนำทาง แต่ก็ยังไม่แคล้วได้ข่าวว่า จีพีเอส ก็ยังจะพาไปหลงทางอีก พาเข้าป่าบ้าง พาลงเขื่อนบ้าง แต่ก่อนอื่นมารู้จักกับคำว่า จีพีเอส (GPS) ย่อมาจากคำว่า Global Positioning System ซึ่งเป็นชื่อของระบบดาวเทียมกำหนดตำแหน่งของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันหลายๆประเทศก็มีระบบดาวเทียมกำหนดตำแหน่งของตัวเอง และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป แต่ด้วยที่คำว่า จีพีเอส ใช้กันจนคุ้นชิน เพราะอเมริกาเป็นเจ้าแรกที่เปิดระบบดาวเทียมกำหนดตำแหน่งให้ได้ใช้ก่อน การใช้เครื่องจีพีเอส ให้ค่อยๆบรรจงเปิดเครื่องแล้ว รอสัญญาณดาวเทียมให้ชัดเจน ไม่ต้องรีบร้อน รอสัญญาณดาวเทียมให้เต็มพิกัดก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องหาตำแหน่งของเราได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเส้นทางที่เหมาะสม กระบวนการนี้ใช้เวลาไม่นาน เพราะด้วยประสิทธิภาพของระบบดาวเทียมกำหนดตำแหน่งที่ถูกออกแบบวงโคจรในอวกาศมาเป็นอย่างดี ทำให้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตามบนโลกใบนี้สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้แน่นอน ถ้าแบตเตอรี่ไม่หมดเสียก่อน ยิ่งถ้าเครื่องของใครรับสัญญาณ GNSS ได้ ความถูกของตำแหน่งต้องยิ่งแม่นยำขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าถ้าขับรถไปเปลี่ยนเลนกี่ครั้งเครื่องรู้หมด อีกอย่างก็คือเซนเซอร์จับสัญญาณดาวเทียมที่ติดตั้งในเครื่องรับสัญญาณจีพีเอสนั้นเก่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะมาก จับสัญญาณได้เร็วและเสถียรขึ้น แม้อยู่ใต้ร่มไม้ ในขณะที่เมื่อก่อนประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ต้องไปยืนกลางที่โล่งแจ้งอย่างเดียว กำหนดโหมดการเดินทางให้เหมาะสม ข้อนี้ฮา เพราะหลายคนที่หัวร้อนใจร้อนอยากไปถึงไวๆ จึงสั่งให้เครื่องจีพีเอสนำทางโดยใช้รูปแบบ “เส้นทางที่สั้นที่สุด” หารู้ไม่ว่า เครื่องจะเอาถนนทุกเส้นในฐานข้อมูลมาคำนวณหาเส้นทางที่สั้นที่สุดโดยไม่สนใจประเภทถนนหรือขนาดถนน ทีนี้หละมันพาเข้าซอย ลัดเลาะทุ่งนา ฝ่ากลางสวนยาง โผล่สวนลำไย แวะไปทักทายฟาร์มกุ้งให้วุ่นวาย ทางออกก็คือ ควรจะเลือกโหมดการเดินทางแบบ “เส้นทางที่เร็วที่สุด” เพราะเครื่องจีพีเอสจะเลือกเฉพาะถนนขนาดใหญ่เท่านั้นมาคำนวณและแนะนำให้เรา ปลอดภัยหายห่วงไม่พาเข้าซอยแน่นอน . เช็คชื่อจุดหมายปลายทางให้ชัวร์ : ตั้งใจจะไปสถานที่ชื่อ ก. อยู่ในจังหวัด ข. แต่ดันไปโผล่ที่ สถานที่ชื่อ ก. เหมือนกัน! แต่จังหวัด ฮ. ปัญหาอยู่ตรงที่พิมพ์ชื่อสถานที่ปลายทางแล้วลืมตรวจเช็ครายละเอียดอื่นๆ ทำให้เครื่องจีพีเอสนำทางไปผิดทาง ควรจะตรวจเช็คชื่อสถานที่ให้มั่นใจว่าถูกต้องแน่นอน ก่อนจะกดตกลงให้จีพีเอสนำทาง . ข้อนี้สำคัญ! อย่าลืม! อัพเดทฐานข้อมูลเครื่องจีพีเอสก่อนออกเดินทาง ต้องเข้าใจก่อนว่าข้อมูลในเครื่องจีพีเอส ก็คือข้อมูลจีไอเอสที่อัพเดทล่าสุด ณ เวลาที่ถูกบรรจุลงไปในเครื่อง เมื่อเวลาผ่านไปถนนบางเส้นอาจถูกยกเลิกการใช้งาน บางเส้นอาจสร้างขึ้นมาใหม่ อย่างที่เราเห็นกันว่าบ้านเรานั้น มีถนนใหม่ๆเกิดขึ้นตลอด เพราะฉะนั้นต้องหมั่นอัพเดทฐานข้อมูลในเครื่องจีพีเอสตามไปด้วย ซึ่งบริษัทเจ้าของเครื่องก็จะมีประกาศออกมาเรื่อยๆถ้ามีข้อมูลใหม่ บางยี่ห้อมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็อาจจะมีการอัพเดทให้อัตโนมัติถือว่าโชคดีไป ถ้าเครื่องไหนไม่มีก็จำเป็นอย่างยิ่งต้องอัพเดทบ่อยๆด้วยตนเอง ข้อนี้แนะนำไว้ให้คิด อย่าเชื่อจีพีเอสจดหมดใจ ให้ใช้จีพีเอสอย่างมีสติ ใช้ให้เป็นแค่เพียงเครื่องมือที่คอยช่วยเหลือเรา อย่าให้มาเป็นนายเรา ให้ทำหน้าที่แค่แนะนำทางแล้ว หลังจากนั้นเรื่องการเรียนรู้เส้นทางให้เป็นหน้าที่ของเรา มองหาจุดสังเกต สังเกตป้ายตลอดทาง เชื่อมโยงกับเส้นทางบนแผนที่ จากนั้นสมองเราจะเกิดกระบวนการเรียนรู้และจำเส้นทางต่างๆ นานวันเข้าเราก็จะเชื่อมโยงเส้นทางต่างๆเข้าด้วยกันกลายเป็นแผนที่ส่วนบุคคลที่หยิบมาใช้ได้ตลอดเวลาและตลอดชีพ เพราะในยามฉุกเฉินตนเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดในโลกที่จะเทียบเท่ากับประสาทสัมผัสของมนุษย์เราได้อีกแล้ว