กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมศิลปากร ขอเชิญสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “พิพิธทศปฏิมาอารยศิลป์” โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นประธาน พร้อมอัญเชิญพระพุทธปฏิมาโบราณอีก 9 องค์ ที่เก็บสงวนรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและมีแหล่งกำเนิดจากนานาประเทศที่มีพุทธศิลป์แตกต่างกัน มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชาเนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2563 ระหว่างนี้ - 5 มกราคม 2563 ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ประกอบด้วยพระพุทธรูปพุทธศิลป์ต่างๆ ตามลำดับคือ พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะสุโขไทย-ล้านนา 1. พระพุทธสิหิงค์ เลขทะเบียน 1 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะสุโขทัย-ล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 ชนิด สำริด กะไหล่ทอง ขนาด สูงพร้อมฐาน 135 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร องค์พระสูง 79 เซนติเมตร ประวัติ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อพุทธศักราช 2338 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล - พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณของไทยทุกแห่ง นับแต่กรุงสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์ จึงสถิตเป็นมงคลแก่พระนครประจำ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล พระพุทธรูปประทานอภัย ศิลปะอินเดีย 2. พระพุทธรูปประทานอภัย เลขทะเบียน ต.ป.1 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะอินเดีย แบบคันธาระ พุทธศตวรรษที่ 6-9 ชนิด ศิลา ขนาด สูง 41 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 29 เซนติเมตร ประวัติ ได้มาจากประเทศอินเดีย ห้างบอมเบเบอร์ม่า ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานที่เก็บรักษา ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร - พระพุทธรูปปางประทานอภัยสลักจากศิลา แบบคันธาระนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบของสกุลช่างที่สร้างพระพุทธรูปในระยะแรกๆ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย พระพักตร์มีลักษณะตามอุดมคติแบบกรีกและโรมัน ซึ่งเน้นความเสมือนจริงตามหลักกายวิภาค ห้างบอมเบเบอร์ม่า น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธรูปประทานอภัยองค์นี้เคยประดิษฐาน ณ มุขกลางของพลับพลาจตุรมุขด้านหลังพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในงานนักขัตฤกษ์นมัสการพระพุทธชินราช ประจำปีรัตนโกสินทร์ศก 122 (พุทธศักราช24446) อีกด้วย พระอมิดะเนียวไร พระอมิตาภพุทธเจ้า ศิลปะญี่ปุ่น 3. พระอมิตาภพุทธเจ้า (พระอมิดะเนียวไร) เลขทะเบียน ต.ป.80 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะญี่ปุ่น สมัยคามากุระ พุทธศักราช 1728-1876 ชนิด สำริด ขนาด สูงพร้อมฐาน 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 36 เซนติเมตร ประวัติ ของหลวงพระราชทาน เมื่อวันที่ 17ธันวาคม 2469 สถานที่เก็บรักษา ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร - พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย แสดงธยานมุทราโดยนิ้วหัวแม่มือจดกับนิ้วชี้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระอมิตาภะแบบญี่ปุ่นที่แสดงถึงการชี้นำดวงวิญญาณสู่นิพพาน พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าที่พุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นนับถือมากที่สุดรองจากพระศากยมุนี (พระชะกะเนียวไร) ด้านหลังพระพุทธปฏิมาสลักอักษรคะตะคะนะกับฮิรางะนะเป็นภาษาญี่ปุ่นความว่า “อุทิศโดยคุณนิชิวากิ เคนจิ เขตโอจิยะ เมืองอีจิโกะ [ปัจจุบันคือ เมืองนีงาตะ] ปีเมจิที่ 40 เดือน 4 วันที่ 7 (วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2450)” กลีบบัวที่ฐานด้านหลังสลักอักษรโรมัน ภาษาอังกฤษว่า “K.NISHIWAKI THE DONOR” แปลว่า คุณเค. นิชิวากิ เป็นผู้ถวาย  พระพุทธรูปสมาธิ ศิลปะลังกา 4. พระพุทธรูปสมาธิ เลขทะเบียน ตป.5 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะลังกา สมัยโปลนนารุวะ พุทธศตวรรษที่ 18-20 ชนิด สำริดปิดทอง ขนาด สูงพร้อมฐาน 28.5เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 20.5เซนติเมตร ประวัติ ของหลวงพระราชทานมาเมื่อวันที่ 17ธันวาคม พุทธศักราช 2469 เดิมได้มาจากเมืองเชียงราย สถานที่เก็บรักษา ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร - พระพุทธรูปสมาธิองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2469 เดิมได้มาจากเมืองเชียงราย “สมัยโปลนนารุวะ” เป็นยุคทองของศิลปะลังกา พระพุทธรูปในยุคนี้มีลักษณะพระพักตร์ที่สงบนิ่ง มีพระรัศมีทรงเตี้ย พระอังสากว้าง พระอุระหนา พระพาหาใหญ่ และได้ให้อิทธิพลแก่พุทธศิลป์สมัยสุโขทัยของไทยด้วย  เซ็กเกียมอนี้ฮุด พระพุทธศากยมุนี ศิลปะจีน 5. พระพุทธศากยมุนี (เซ็กเกียมอนี้ฮุด) เลขทะเบียน ต.ป.28 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะจีน สมัยราชวงศ์หมิง พุทธศักราช 1911-2187 ชนิด สำริดปิดทอง ขนาด สูงพร้อมฐาน 62 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 34 เซนติเมตร สถานที่เก็บรักษา ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประวัติ เดิมประดิษฐานที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง ย้ายมาในพิพิธภัณฑสถานเมื่อพุทธศักราช 2436 - พระพุทธรูปปางมารวิชัย ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วธรรมชาติ เปิดพระอุระเบื้องขวาและมีจีวรคลุมพระอังสาและพระพาหาขวา พระพุทธปฏิมานี้ สันนิษฐานว่าเป็น พระศากยมุนีพุทธเจ้า ที่ชาวจีนเรียกว่า “เซ็กเกียมอนี้ฮุด” ปกติจะนิยมทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ ทั้งขัดสมาธิราบและขัดสมาธิเพชร แต่องค์นี้มีลักษณะพิเศษคือ แสดงภูมิสปรศมุทรา ประทับนั่งบนสิงหาสนะ (บัลลังก์สิงห์) อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ว่า ทรงเป็นสิงห์แห่งวงศ์ศากยะ พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย ศิลปะพม่า 6. พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย เลขทะเบียน ตป.15 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะพม่า สมัยนยองยาน พุทธศตวรรษที่ 22-23 ชนิด สำริด ขนาด สูงพร้อมฐาน 32.3 เซนติเมตร ตักกว้าง 20 เซนติเมตร ประวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาเมื่อคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช 2469พระราชทานมาเมื่อ 15 มีนาคม2469 สถานที่เก็บรักษา ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร - พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับขัดสมาธิเพชร (วัชราสนะ) แสดงปางมารวิชัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาเมื่อคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช 2469 พระราชทานมาเมื่อ 15 มีนาคม2469 ตามเอกสารของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดศิลปะพระพุทธรูปองค์นี้เป็น “ฝีมือช่างเชียงรุ้ง” โดยลักษณะพิเศษของพระพุทธรูปกลุ่มนี้คือ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ทรงอุณหิศหรือเครื่องประดับพระเศียรที่มีแผ่นกระจังขนาดใหญ่และมีแถบผ้าที่เบื้องหลังของพระกรรณ ทรงกุณฑลขนาดใหญ่ และหากครองจีวรห่มเฉียงจะมีสังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายสังฆาฏิตัดตรง พระพุทธรูปมารวิชัย ศิลปะลาว 7. พระพุทธรูปมารวิชัย เลขทะเบียน 18/353/2516 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะลาว พุทธศตวรรษที่ 22 – 23 ชนิด สำริด ปิดทอง ขนาด สูงพร้อมฐาน 67 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 26 เซนติเมตร ประวัติ สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่งไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2514 สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ - พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 ช่วงเวลานี้อาณาจักรล้านช้างมีความเจริญรุ่งเรืองมีการสร้างพระพุทธรูปสำริดที่มีจารึกศักราชและผู้สร้างจำนวนมาก สำหรับพุทธลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปลาวที่ปรากฏ อาทิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระโอษฐ์เล็ก แย้มมุมพระโอษฐ์เล็กน้อย มีร่องเหนือพระโอษฐ์ซึ่งเชื่อมต่อลงมาจากพระนาสิก มีแนวเส้นไรพระศก เม็ดพระศกแหลมเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวขนาดใหญ่ ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มุมฐานบัวตวัดขึ้น หรือที่เรียกว่า “บัวงอน” พระพุทธศากยมุนี ศิลปะเวียดนามเหนือ 8. พระพุทธศากยมุนี เลขทะเบียน 66 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะเวียดนามเหนือ สมัยราชวงศ์หลีตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 20-24 ชนิด หยก ขนาด สูง 20เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 12.5 เซนติเมตร ประวัติ เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแต่เดิม สถานที่เก็บรักษา ห้องศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร - พระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ แสดงลักษณะเฉพาะของพุทธประติมาเวียดนามคือ ครองจีวรห่มคลุม ทิ้งชายลงจากบ่าทั้งสองข้างเท่ากัน แต่พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานี้จะเผยให้เห็นพระอุระ และขอบสบงชัดเจนอันเป็นอิทธิพลรูปแบบทางศิลปะจากราชวงศ์หมิงของจีน พระพุทธรูปมารวิชัย ศิลปะพม่า สมัยมัณฑะเลย์ 9. พระพุทธรูปมารวิชัย เลขทะเบียน 6 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะพม่า แบบมัณฑะเลย์ ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ชนิด หินอ่อน โลหะปิดทองประดับกระจก ขนาด สูงพร้อมฐาน 89 เซนติเมตร ตักกว้าง34.5 เซนติเมตร ประวัติ เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแต่เดิม สถานที่เก็บรักษา พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร - พระพุทธรูปมารวิชัยสลักจากหินอ่อน พุทธลักษณะสำคัญที่แสดงถึงศิลปะพม่า แบบมัณฑะเลย์ คือ ที่พระพักตร์มีกระบังหน้า ทรงครองจีวรเป็นริ้วธรรมชาติ พระพุทธรูปห่มเฉียงบนพระอังสาซ้ายมีชายจีวรตกลงมายาวจนถึงพระนาภี ปลายจีวรเล่นลวดลายให้ชายผ้าทบไปมามากจนดูผิดธรรมชาติ ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานการสั่งและนำเข้าพระพุทธรูป หินอ่อนสีขาวจากพม่าด้วย ที่สำคัญคือ พระพุทธเทววิลาส พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ วัดเทพธิดาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอารามแห่งนี้ ก็เป็นพระพุทธรูปที่สลักด้วยหินอ่อนสีขาวโดยช่างพม่า พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย ฝีมือช่างเมืองพระตะบอง 10. พระพุทธรูปมารวิชัยทรงเครื่อง เลขทะเบียน 25732/2485 แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะช่างเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ชนิด ทองคำ ขนาด สูงพร้อมฐาน24.5 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 8 เซนติเมตร ประวัติ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) สร้างถวายวัดหลวงปรีชากูล จังหวัดปราจีนบุรี และนำมาประดิษฐานวัดพระศรีมหาธาตุ ต่อมาพันตรีควง อภัยวงศ์ มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สถานที่เก็บรักษา คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร - พระพุทธรูปทรงเครื่องมารวิชัย เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ภายใต้พระราชอำนาจของราชอาณาจักรสยาม สร้างถวายวัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ต่อมาพันตรีควง อภัยวงศ์ มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร