คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ได้เขียนถึงเรื่องชื่อไทยเมื่อเขียนด้วยคำอังกฤษให้คนต่างชาติอ่านได้พบคำว่า “สุวรรณภูมิ” ที่เป็นชื่อสนามบินของไทยซึ่งเขียนว่า “Suvannaphumi” นั่นเป็นการเขียนที่ใส่ใจในระบบอักษรโรมัน ถ้าชาวต่างชาติออกเสียงตามตัวหนังสือ ก็คงจะอ่านว่า “สุวันนะพูมิ” ซึ่งคนไทยเองก็อาจจะงงๆ อยู่ อยากให้เขียนว่า “Suwannaphoom” ตามเสียงพูดของคนไทยโดยเฉพาะคำว่า “phoom” ถ้าเขียนเป็น “phumi” หรือ “Bhumi” (ออกเสียงเป็น พูมิ) แม้จะถูกตรงกับความหมายของคำว่า “ภูมิ” แต่คนต่างชาติก็ไม่รู้ว่าตรงหรือไม่ตรง รู้แต่ว่า คนฟังรู้เรื่องหรือไม่ว่าหมายถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ตัว U ในคำว่า Phumi นั้น คนไทยมักจะใช้แทนสระ อะ (หรือ สระอา) จึงตัดปัญหาด้วยการใช้ตัว oo (ดับเบิลโอ) แทน เพราะ oo (ดับเบิลโอ) บังคับให้อ่านเป็นสระ อุ หรือ สระ อู เท่านั้น ถ้าให้คนต่างชาติออกเสียง Phumi เป็น Phoom อย่างคนไทยเขาคงจะสงสัยว่า ทำไมต้องออกเสียงอย่างนั้น? คำว่า “สัปปายะ” ที่ใส่สระอะ (-ะ) ท้ายคำ เมื่อเขียนด้วยคำอังกฤษ ก็จะเป็น Sappaya ถ้าไม่ใส่สระอะ ก็อาจจะเขียนกันว่า sappai หรือ sapay ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า spy (สอดแนม) ในภาษาอังกฤษอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเขียน สัปปายะ ไม่มีสระอะ คนไทยสมัยนี้ก็มักจะไม่รู้จักอ่านคำสมาส ซึ่งโดยปกติคำสมาส (ในบาลี-สันสกฤต) ไม่นิยมใส่สระอะ ไว้ระหว่างคำ เช่นคำว่า “พุทธะอิสระ” ถ้าเป็นคำสมาส ไม่นิยมใส่สระอะที่ ธะ ให้เขียนเป็น “พุทธอิสระ” (แต่ท่านเจ้าของชื่อต้องการให้เป็น “พุทธะ” ก็ต้องเป็น “พุทธะอิสระ” อย่างนั้น) ชื่อ “พุทธทาส” เขียนอย่างคำสมาส จึงไม่เป็น “พุทธะทาส” สมัยหลังๆ มานี้ คนไทยมักจะอ่านคำสมาสไม่เป็นก็เลยนิยมใส่สระอะ ระหว่างคำกันมากขึ้น ซึ่งก็ไม่น่าจะผิด เป็นแต่ให้รู้ว่า นั่นเป็นคำสมาส วันนี้จะเขียนถึง “สัปปายะ สภาสถาน” หรือ “รัฐสภา” แห่งใหม่ของไทย ที่เกียกกาย กรุงเทพฯ แต่ขอขยายความเรื่องกรรม (ตามคำสอนในพุทธศาสนา) ที่เขียนถึงเมื่อวันก่อน สักเล็กน้อย ขอย้ำว่า “กรรม” ตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามีความสัมพันธ์หรือยึดโยงกับเรื่อง “สังสารวัฏฏ์” อย่างยิ่ง ผลของกรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นไปยาวนานในสังสารวัฏฏ์ คือเกิดผลในหลายภพหลายชาตินับไม่ถ้วน พระอรรถกถาจารย์จึงหาวิธีอธิบายเรื่องการให้ผลของกรรมด้วยหลัก (หรือกฎ) แห่งกรรม 12 พยายามอธิบายว่ากรรมบางอย่างให้ผลในทันที กรรมบางอย่างรอโอกาสที่เหมาะสมในการให้ผล บางอย่างผลกรรมแสดงออกตามความหนักเบาของกรรม บางอย่างแสดงออก (แสดงผล) ตามน้ำหนักของเจตนา บางอย่างแม้มีการกระทำแต่ก็ไม่มีผลของกรรม เป็นต้น ถ้าไม่มีสังสารวัฏฏ์ กรรมก็จะมีลักษณะเป็น “ชะตากรรม” เพราะอย่างมากก็ตามดูผลกรรมได้ชาติเดียว คือตายแล้วเกิดไปรับผลกรรมได้ครั้งเดียว และมีแนวโน้มว่าจะเป็นความเชื่อว่าตายแล้วเกิดเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่ทางพุทธศาสนาสอนว่า ในสังสารวัฏฏ์หรือการเวียนว่ายตายเกิดอันยาวนานนั้น มีการเกิดหรือระหกระเหินเป็ฯสัตว์โลกประเภทต่างๆ เช่นเป็น เทวดา ซึ่งรวมถึงเป็นพรหมด้วย เป็นสัตว์ในอบายภูมิมีนรก เป็นต้น หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน และเป็นมนุษย์ ไม่แน่นอน ตามหลักวิชาทางพุทธศาสนากล่าวว่า คนชั้นโสดาบันขึ้นไป (ถึงชั้นอนาคามี) เท่านั้น จึงมีชาติภพที่แน่นอนตายตัว คือเกิดเป็นมนุษย์ในทุกชาติ และการเกิดเป็นมนุษย์เท่านั้น จึงจะสามารถบรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล (ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป) เนื่องจากมนุษย์มีการพัฒนาทางสติปัญญาได้สูงสุด เรื่องนี้น่าจะพิจารณา สัตว์โลกประเภทอื่นๆ แม้แต่เทวดาชั้นพรหม มีขันธ์ไม่ครบถ้วนเหมือนมนุษย์ พรหมบางประเภทเป็น “อสัญญี” คือไม่มีความจำได้หมายรู้ อันเท่ากับไม่มีใจนั่นเอง เมื่อไม่มีใจ ก็แสดงว่าไม่อาจที่จะพัฒนาทางสติปัญญาได้ สัตว์เดรัจฉานบางชนิด มีขันธ์ 5 ไม่สมบูรณ์เหมือนมนุษย์จึงหย่อนสมรรถภาพทางความจำและความคิด (มีแต่ความรู้ชนิด “สัญชาตญาณ”) ย่อมโยงไปถึงการมีอายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) แตกต่างจากมนุษย์ น่าสังเกตว่า แม้แต่อวัยวะทางกาย เช่น ตา จะเห็นได้ว่าเมื่อเป็ด ไก่ จะใช้สายตามอง มันก็มองได้ข้างเดียว และมองไปข้างใดข้างหนึ่ง เพราะตาของเป็ด ไก่อยู่ด้านข้างของศีรษะ ต่างจากตาของมนุษย์ที่มองได้กว้างกว่า (มองด้านข้าง อาจจะใช้ตาชำเลืองมอง) อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้แหละทำให้เกิด ความรู้สึก ความจำ และความรู้ได้มากมาย แก่มนุษย์ ซึ่งต่างจากสัตว์เดรัจฉานทั่วไป และคงต่างจากสัตว์โลกอื่นๆ ทั้งหมด เคยเก็บเอาเรื่องคนตายแล้วแล้วฟื้นมาคิด น่าคิดว่าคนที่ตายฟื้นมาเล่าเรื่องที่ไปพบเห็นในปรโลก ทั้งหมดเขายังมีอายตนะครบถ้วนเหมือนเมื่อยังมีชีวิต ไม่เคยมีใครที่ไปเกิดเป็นสัตว์นรกหรือเป็นเทวดาแล้วมาเล่าเรื่องต่างๆ ในภพนั้นๆเลย จึงเข้าใจว่า สัตว์โลกประเภทอื่นๆ คงมีอายตนะไม่สมบูรณ์เหมือนมนุษย์และคงมี (หรือไม่มี?) ขันธ์ 5 อย่างมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่มีความจำได้หมายรู้และสติปัญญาอย่างมนุษย์ ที่น่าคิดก็คือ แม้แต่มนุษย์ด้วยกัน ก็ยังแตกต่างกันด้วยเพศ ทางวิทยาศาสตร์พบว่า มนุษย์เพศหญิง มีสมรรถภาพทางการใช้อายตนะสูงกว่ามนุษย์เพศชายถึงประมาณ 3 เท่า กล่าวกันว่า หญิงใช้สายตาชายมองได้ หรือ “มองค้อน” ได้โดยธรรมชาติ มีประสาทรับกลิ่น (ทางจมูก) ได้ดีกว่าชายถึง 3 เท่า ความไวหรือสมรรถภาพในการใช้อายตนะนั่นเอง เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หญิงอบรม (ภาวนา) สติ หรือสมาธิได้ยากกว่า หรือเป็นไปได้ช้ากว่าชาย เพราะไวต่อการรับรู้อารมณ์ต่างๆ มากกว่าชายนั่นเอง คนที่มีปัญหาทาง “เพศสภาพ” เช่น กระเทย เป็นต้น มีกิริยาต่างๆ ไปทางหญิง เพราะความไวของการใช้อายตนะนั่นเอง แต่ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้แปลว่า ปัญญาหรือความรู้ของหญิง(หรือกะเทย) เพื่อการทำลายกิเลส เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่า อาจจะมีความไวของประสาทสัมผัสต่างๆ เป็นอุปสรรคอยู่ ผมกำลังตามพิจารณาเรื่องนี้อยู่ ในพุทธประวัติ (ในพระไตรปิฎก) กล่าวถึงญาณหรือความรู้พิเศษของพระพุทธเจ้าที่เป็น “โพธิ” หรือการตรัสรู้ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง มีญาณหรือความรู้พิเศษ 3 ชนิด อันเกิดจากการเพ่ง (ฌาน) ของพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นไล่ๆ กันในคืนเดียว ซึ่งทำให้รู้เรื่องกรรมและสังสารวัฏฏ์ของสัตว์โลก คือ 1.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติก่อนๆ ของพระองค์เองและของสัตว์โลกอื่นๆ ได้เท่าที่ต้องการ 2.จุตูปปาตญาณ (อ่านว่า “จุ-ตู-ปะ-ปา-ตะ-ยาน) หยั่งรู้การตาย (จุติ) และการเกิด (อุปปาตหรือ “อุบัติ) ของสัตว์โลกทั้งมวล ซึ่งเป็นไปตามกรรม 3.อาสวักขยญาณ (อ่านว่า “อา-สะ-วัก-ขะ-ยะ-ยาน)ญาณหรือความรู้แจ่มแจ้งที่ทำให้กิเลสทั้งปวงดับสิ้น ความจริง ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น มีญาณพิเศษอีกอย่างอื่นเกิดขึ้นด้วย แต่กล่าวถึงเฉพาะ 3 ญาณนี้ ก็เพื่ออธิบายว่าพระพุทธเจ้ารู้เรื่องกรรมจากไหน หรือรู้เรื่องกรรมได้อย่างไร จึงแสดงทฤษฎีเรื่องกรรมต่างจากลัทธิหรือศาสนาอื่นๆ คำตอบอยู่ในเรื่องญาณพิเศษที่เกิดขึ้นในคืนที่ทรงตรัสรู้นั่นเองซึ่งเป็นความรู้ที่ได้จากญาณหรือสมาธิอันดิ่งลึกและเฉียบคมอย่างยิ่ง เมื่อทรงเห็นสังสารวัฏฏ์ของสัตว์โลก จึงเกิดความกรุณาอย่างยิ่งอยากจะช่วยสัตว์โลกให้หยุดการเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นความทุกข์ยาวนานด้วยกรรมของสัตว์โลกเอง ถ้าลำพังเกิดญาณเห็นกรรมของสัตว์โลกด้วย “ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” และด้วย “จุตูปปาตญาณ” พระพุทธเจ้าก็ยังไม่พอใจว่าได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อได้ประจักษ์ในพระทัยว่า กิเลสทุกอย่างของพระองค์ดับสิ้นแล้ว ด้วยญาณสุดท้ายคือ “อาสวักขยญาณ” จึงมั่นใจว่า กรรมและสังสารวัฏฏ์ของพระองค์จบลงแล้ว นับแต่บัดนั้น จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก นี่คือความพยายามของคำบาลีที่ว่า “วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ...” “การประพฤติพรหมจรรย์ (บวชเพื่อปฏิบัติธรรม) และ กิจที่จะต้องทำ (เพื่อการดับทุกข์) เป็นอันจบลงแล้ว...” เขียนเรื่องนี้อีก เพื่อให้ชาวพุทธเข้าใจเรื่องกรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าต้องเข้าใจเรื่องสังสารวัฏฏ์ด้วย หาไม่แล้วจะเชื่อในเรื่องกรรมว่าเหมือน “ชะตากรรม” ที่หาเหตุผลอธิบายไม่ได้ อยากจะให้ระลึกว่า กรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ยอมรับผลของกรรมที่เคยทำไว้ ด้วยความสำนึกรู้ แต่ให้มุ่งมั่นทำกรรมดีในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลกรรมที่ดีในภายหน้า อย่างอมืองอเท้า คอยรับแต่ผลกรรมในอดีต ส่วนเรื่อง “สัปปายะสภาสถาน” ที่ตั้งใจจะเขียนในฉบับนี้ผมสนใจคำว่า “สัปปายะ” (ภาษาไทยและลาวแปลงมาเป็น “สบาย” นั่นแหละ) เข้าใจว่า ผู้คิดคำนี้ขึ้นมา ซึ่งต่อมาเป็นนามพระราชทาน คงจะรู้ความหมายของคำว่า “สัปปายะ” และคงจะรู้ว่าคำนี้มีในพระไตรปิฎกคงอยากให้ “สภา” หรือ “รัฐสภาแห่งนี้เป็นสัปปายะในหมู่นักการเมือง แต่จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะนักการเมืองไม่ใช่พระที่แสวงหาสัปปายะแต่นักการเมืองแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจเพื่อตัวเองหรือเพื่อประเทศชาติ (ตามความเข้าใจหรือตามอุดมการณ์ของเขา) สัปปายะของพระที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก(เล่มที่ 24) หมายถึงวัดหรือที่อยู่ ซึ่งไม่มีภัย คือ เป็นวัดใหญ่ (มีพระอยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งมีเรื่องมาก หาความสงบ (ทำสมาธิ) ได้ยาก) เป็นวัดใหม่ เพิ่งสร้าง (จะต้องมีงานก่อสร้างที่ต้องทำมากมาย) เป็นวัดเก่า มีสภาพทรุดโทรมมาก (จะต้องวุ่นกับงานปฏิสังขรณ์วัด ไม่เป็นอันหาความสงบได้) เป็นวัดใกล้ทางไปมาหาสู่ (มีอาคันตุกะไปมาหาสู่อยู่ตลอดเวลา จะต้องคอยต้อนรับขับสู้ไมได้ว่าง) เป็นวัดมีธรรมชาติอันสวยงาม (เช่นมีโขดหินมีพืชพรรณออกดอกออกผลให้ผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมชมหาความเพลิดเพลิน อยู่ตลอดเวลา) เป็นวัดติดเมือง ติดป่าไม้ ติดที่นา ฯลฯ เป็นวัดที่มีคนไม่ถูกกัน เป็นวัดที่ติดแม่น้ำ หรืออยู่ในย่านชุมชนที่คนไปติดต่อด้วยธุระต่างๆอยู่ประจำ เป็นวัดในพื้นที่ไม่มีชาวพุทธเลย เป็นวัดติดพรมแดน (ซึ่งมีการสู้รบอยู่เสมอ เป็นวัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ (เช่นไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์หรือไม่มีครูแนะนำพร่ำสอนเลย) วัดที่เป็นสัปปายะของพระ คือ เป็นวัดที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจนเกินไป (พอเดินบิณฑบาตได้) เป็นวัดที่ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คนทั้งกลางวัน และกลางคืน เป็นวัดที่ไม่อึกทึกด้วยเสียงต่างๆ เป็นวัดที่ไม่มียุงชุมหรือมีแดดลมและสัตว์เสือกคลาน (เช่น งู ตะขาบฯลฯ) รบกวน เป็นวัดที่พอหาปัจจัย 4 ใช้สอยได้ และเป็นวัดที่มีพระที่มีความรู้ (เป็นพหูสูต ให้คำแนะนำในเรื่องพระธรรมวินัยได้ ดูไปแล้ว สภา (หรือรัฐสภา) ที่จะเป็นสัปปายะ กับวัดหรือที่อยู่ที่เป็นสัปปายะของพระ เป็นคนละเรื่องกัน จะให้สภา (หรือรัฐสภา) เป็นที่อยู่สบาย (เป็นสัปปายะ) อย่างวัด คงเป็นไปไม่ได้