สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ วัดตาปะขาวหาย ตั้งอยู่เลขที่ 46 หมู่ 4 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เดิมชาวบ้านเรียกว่า "วัดเตาไห" เพราะเป็นหมู่บ้านที่ปั้นเตาและไห ผลิตส่งออกขายภายในประเทศและต่างประเทศ พบหลักฐานสำคัญเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่วัดจุฬามณี และพบเครื่องปั้นดินเผาที่อ่าวไทยในซากเรือสำเภาล่มอ่าวไทย วัดตาปะขาวหาย วัดนี้นับเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าก่อสร้างและตั้งวัดขึ้นในสมัยใด แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งโบราณสถานและปูชนียวัตถุที่ปรากฏอยู่คือ ‘เตาสมัยโบราณ’ จึงสันนิษฐานว่าวัดนี้น่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้น พระนาคปรก วัดตาปะขาวหาย หลวงปู่ศุขปลุกเสกปี 2464 วัดตาปะขาวหาย เป็นวัดในตำนานประวัติศาสตร์การสร้าง "พระพุทธชินราช" ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ตาม ‘ตำนานพงศาวดารเหนือ’ กล่าวไว้ว่า “... เมื่อครั้งพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และมีการหล่อพระประธาน คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และ พระพุทธศาสดา นั้น เมื่อเททองหล่อพระถึง 3 ครั้ง ทองที่เทหล่อก็ไม่รวมตัวกันเป็นองค์พระ ร้อนถึงเทวดาต้องลงมาช่วย โดยแปลงเป็นตาปะขาวมาช่วยสร้างพระพุทธชินราชในครั้งนั้นให้สำเร็จ พอเทหล่อได้สำเร็จเรียบร้อยดีแล้ว ตาปะขาวนั้นก็เดินไปทางด้านทิศเหนือ แล้วก็หายวับไปกับตา พระมหาธรรมราชาลิไทจึงทรงโปรดให้สร้างวัดตรงบริเวณนั้น ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดว่า "วัดตาปะขาวหาย"...” พระปิดตาพิมพ์สามเหลี่ยม เนื้อผง แต่เดิม ‘วัดตาปะขาวหาย’ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งทิศตะวันออก และถูกกระแสน้ำไหลกัดเซาะตลิ่งจนวัดจมลงในแม่น้ำน่านถึงสองครั้ง ปรากฏหลักฐานคือใบเสมาและอุโบสถที่จมอยู่กลางแม่น้ำน่าน เวลาหน้าแล้งจะสามารถเห็นใบเสมาและอุโบสถ นอกเหนือจากนั้นยังพบฐานเจดีย์ซึ่งก่อด้วยอิฐเป็นจำนวนมากที่ริมตลิ่งแม่น้ำน่าน วัดตาปะขาวหายปัจจุบันจึงเป็นการย้ายที่ตั้งวัดเป็นครั้งที่สาม พระหลวงพ่อโต กรุวัดตาปะขาวหาย กล่าวถึง ‘พระพิมพ์’ ของวัดตาปะขาวหายนั้น ที่นับเป็นพระกรุเก่าที่ได้รับความนิยมสูง ก็คือ “พระพิมพ์หลวงพ่อโต” พบจากวัดเก่าที่พังลงแม่น้ำน่าน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา เป็นพระเนื้อดินที่ละเอียดมาก พุทธลักษณะพระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย 2 ชั้น เหมือนกับ “พระหลวงพ่อโต กรุบางกระทิง จ.พระนครศรีอยุธยา” แต่มีขนาดเล็กกว่า และมีพุทธศิลป์ที่งดงามกว่า มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก เป็นที่ร่ำลือว่ามีพุทธคุณเป็นเลิศ ทั้งเมตตา แคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี เรียกได้ว่าเป็นสกุลพระหลวงพ่อโตยอดนิยมพิมพ์หนึ่งในเมืองไทยทีเดียว พระหลวงพ่อโต กรุวัดตาปะขาวหาย พระยอดนิยมอีกรุ่นหนึ่งของวัดตาปะขาว สร้างในราวปี พ.ศ.2460 โดย พระครูต่วน อดีตเจ้าอาวาสวัดตาปะขาวหาย ร่วมกับ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ผู้สนิทชิดเชื้อและไปมาหาสู่กันเป็นเนืองนิตย์ เพื่อแจกผู้มีจิตศรัทธาบริจาคปัจจัยสร้างมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง หลังคาจัตุรมุข โดยสร้างเป็น ‘พระปิดตาพิมพ์สามเหลี่ยม’ เนื้อผง และเนื้อโลหะผสม 2 พิมพ์ คือ พิมพ์แขนหักศอก กับพิมพ์แขนกลม รวมทั้ง ‘พระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มประภามณฑล’ เนื้อผงขาวและผงดำ ส่วนเนื้อโลหะผสมพบน้อยมาก และ ‘พระพิมพ์นาคปรก’ สมาธิเพชร บนขนดนาคสามชั้น เนื้อผงพุทธคุณขาวและเนื้ออมเขียว ซึ่งหลวงปู่ศุขได้ร่วมปลุกเสกด้วย พระรุ่นนี้เป็นที่กล่าวขานว่ามีพุทธคุณสูงส่งยิ่งนักและเป็นที่แสวงหาอย่างกว้างขวาง พระหลวงพ่อโต กรุวัดตาปะขาวหาย ปัจจุบัน พระพิมพ์ยอดนิยมของ ‘วัดตาปะขาวหาย’ ทั้งสองรุ่น นับเป็นของดีที่หาได้ยากยิ่ง ผู้มีไว้ครอบครองก็ต่างหวงแหน การทำเทียมเลียนแบบก็มีกันมาตั้งแต่อดีต ดังนั้นการจะเช่าจะหาต้องพิจารณาให้ดีครับผม