“สมเด็จพระเทพฯ” รับสั่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดโขนพระราชทานเป็นโขนหน้าไฟ เริ่มระดมผู้แสดง 300 ชีวิตเล่นรามเกียรติ์ถวาย ตอนรามาวตาร-ลักสีดา-หนุมานถวายพล-พิเภกสวามิภักดิ์ เพื่อสรรเสริญพระเกียรติ ส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์ - กรมศิลป์เร่งออกแบบโรงโขน ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์(สบศ.) และผู้ช่วยผู้อำนวยการแสดงโขนพระราชทาน กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสบศ.จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หรือโขนพระราชทาน เป็นการแสดงโขนหน้าไฟงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำหรับในงานพระราชพิธีครั้งนี้จะมีโขน 2 โรง ได้แก่ โขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ-รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีสำนักการสังคีตกรมศิลปากรรับผิดชอบ ส่วนโขนพระราชทานของมูลนิธิฯ จะแสดงในช่วง 2 ระยะเวลาการแสดงประมาณ 2 ชั่วโมง โดยเบิกโรงด้วยหนังใหญ่พากย์สามตระ เพื่อเป็นการไหว้ครู พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ เทพเทวดา เป็นการแสดงก่อนการเล่นโขน ต่อด้วยการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ชุดจับลิงหัวค่ำ เป็นการแสดงก่อนแสดงหนังใหญ่ เนื่องจากครั้งนี้เป็นโรงโขนผสมหนังใหญ่ จากนั้นจึงเริ่มการแสดงโขนพระราชทาน ประกอบด้วยตอนรามาวตาร กล่าวถึงพระนารายณ์อวตาร , ตอนทศกัณฐ์ลักนางสีดา , ตอนพระรามพบสดายุ , ตอนหนุมานถวายพล , ตอนตามนางสีดา จากนั้นเข้าสู่ตอนพิเภกถูกขับ และตอนพิเภกสวามิภักดิ์ หลังจากนั้นโขนกรมศิลปากรจะแสดงต่ออีก 5 ชั่วโมง เล่นต่อเนื่องจนรุ่งเช้า “สำหรับโขนพระราชทานครั้งนี้ มีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้อำนวยการแสดง อาจารย์เกิดศิริ นกน้อย เป็นผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยชัย เป็นผู้จัดทำบท ขณะนี้เรียบเรียงเสร็จแล้ว เหตุที่เลือกเรื่องรามเกียรติ์ ตอนรามาวตาร เปรียบในหลวงรัชกาลที่ 9 เหมือนพระนารายณ์อวตารลงมาปราบมารร้าย เกิดเรื่องราวต่างๆ มากมาย แล้วมาจบที่ขับพิเภกออกจากเมือง ยักษ์ตนนี้เป็นน้องทศกัณฐ์ แต่มาสวามิภักดิ์พระราม แสดงถึงความซื่อสัตย์ รักษาความเที่ยงธรรมและจงรักภักดีเพื่อให้คนไทยสานต่อคุณธรรมถวายในหลวง” ดร.สุรัตน์ กล่าวต่อไปว่า การแสดงจะใช้ผู้แสดงจำนวนมากถึง 300 คน โดยปกติโขนพระราชทานใช้ผู้แสดง 200 คน จึงต้องมีการสร้างเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับโขนเพิ่มเติมตามโบราณราชประเพณี โดยใช้ช่างฝีมือของศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง ศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดา และสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพอีกหลายแห่ง ร่วมปักเครื่องโขนพระราชทานให้วิจิตรงดงาม อย่างไรก็ตาม การจัดทำเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ประกอบฉากจะเสร็จเดือนกันยายนนี้ ส่วนผู้แสดงเริ่มระดมพลแล้ว โดยกำหนดให้ผู้แสดงโขนทั้งหมดซ้อมร่วมกันที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ศาลายา ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่เคยแสดงโขนพระราชทานมาแล้ว รวมถึงครูบาอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ที่อยากมีส่วนร่วมแสดงถวายพระองค์ท่านครั้งสุดท้าย และกล่าวต่อไปอีกว่า โขนเป็นหนึ่งในมหรสพหลวงตามธรรมเนียมเมื่อมีงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ถือเป็นการสรรเสริญพระเกียรติพระมหากษัตริย์อย่างสมพระเกียรติ เพราะด้วยคติความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ พระมหากษัตริย์เป็นนารายณ์อวตาร เชื่อว่าเมื่อทรงสวรรคตคือการเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์หรือทิพยสถาน ถ้าตามคติพุทธถือว่ากลับคืนสู่สภาวะความเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นวัฏฏะที่ทุกคนต้องแสดงความยินดีที่เสด็จสู่สวรรคาลัย อีกด้านหนึ่งมหรสพช่วยผ่อนคลายความเศร้าโศกเสียใจ แม้แต่งานศพสามัญชนก็จัดมหรสพสมโภช แสดงลิเก ภาพยนตร์ ที่เห็นจนทุกวันนี้ ทั้งถือเป็นการทำบุญทำทานอีกด้วย “ดังนั้น ในการแสดงโขนพระราชทานครั้งนี้จึงพิถีพิถันทุกขั้นตอน ฉาก แสง สี เสียง อุปกรณ์ประกอบฉาก รวมถึงเทคนิคพิเศษ เช่น ตอนลักนางสีดา จะเป็นการแสดงชักรอกตัวโขนให้ลอยขึ้นจากพื้นเวที แต่จะมากน้อยเพียงไหนขึ้นกับลักษณะทางกายภาพของโรงโขน ขณะนี้กรมศิลปากรอยู่ระหว่างออกแบบโรงโขน” ดร.สุรัตน์ กล่าว