ตั้งแต่ ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา การช่วยเหลือผู้ยากจนของจีนได้เข้าสู่ช่วงใหม่ที่ริเริ่มให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด โดยให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาและวัฒนธรรมเป็นหลัก บวกกับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ เพื่อก่อรูปขึ้นเป็นความช่วยเหลือแบบ “การสอนวิธีจับปลาแทนที่การให้ปลา” มณฑลกุ้ยโจวใช้มาตรการดังกล่าวช่วยเหลือชาวเขาขจัดความยากจนด้วยฝีมือปักผ้า หญิงปักผ้าที่มาจากเขตภูเขามณฑลกุ้ยโจวมีความสวยสดงดงามยิ่งในบรรดาผู้ที่พ้นจากความยากจนนับหมื่นนับพันคน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้างสรรพสินค้าเฉียวฝูฟางเฉ่าตี้ กรุงปักกิ่ง ได้จัด “ตลาดนัดเขตภูเขา” เพื่อประชาสัมพันธ์ศิลปะการผ้าปัก เชือกถัก ผ้าบาติก และอาหารพื้นบ้านที่มาจากเขตภูเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกุ้ยโจว ในตลาดนัดครั้งนี้ มีคุณยายชาวม้งท่านหนึ่งในชุดประจำเผ่าอย่างเต็มยศเป็นที่จับตามองของผู้คนทั้งหลาย ท่านกำลังตั้งใจถักเชือก “ด้าย 8 เส้น” เครื่องประดับเงินทั้งชุดที่มีเอกลักษณ์ของชาวม้งที่คุณยายสวมใส่นั้นส่งประกายระยิบระยับตามการเคลื่อนไหวของคุณยาย คุณยายท่านนี้ชื่อพาน ยวี่เจิน วัย 74 ปี เป็นผู้สืบทอดศิลปะการปักผ้าของชนเผ่าม้ง และเป็นศิลปินปักผ้ารุ่นอาวุโสของห้องทำงานหัตถศิลป์กลุ่มอีเหวินของจีนหรือ EVE Group China Craftsmanship ด้วยการใช้ความพยายามเป็นเวลา 15 ปี ห้องทำงานหัตถศิลป์อีเหวินมีนักปักผ้าหญิงที่มาจากมณฑลกุ้ยโจว มณฑลหยุนหนาน เขตมองโกเลียใน และเขตทิเบต เป็นต้น จำนวนกว่า 13,000 คน หลังจากได้รับการอบรมด้านเทคนิคการปักผ้าและการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด นักปักผ้าเหล่านี้ต่างมีใบสั่งซื้อที่มั่นคง นอกจากนี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเธอก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ความผูกพันระหว่างกลุ่มอีเหวินกับมณฑลกุ้ยโจว เริ่มตั้งแต่การเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลครั้งหนึ่งของนางเซี่ย หวา ประธานกรรมการกลุ่มอีเหวินเมื่อค.ศ. 2003 ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ นางเซี่ย หวา ไปถึงหมู่บ้านเขตภูเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกุ้ยโจว และมีภาพประทับใจในศิลปะการปักผ้า และนิทานพื้นบ้านของชนเผ่าปู้อีเป็นพิเศษ แต่ชีวิตอันเร่งรีบสมัยนี้ ทำให้นักปักผ้าหลาย ๆ คนในพื้นที่ดังกล่าวต้องเปลี่ยนอาชีพ เพราะรายได้จากการปักผ้าไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ศิลปะการปักผ้าดั้งเดิมที่งดงามและละเอียดประณีตตกอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้จะสูญหายไป “ทุกครั้งที่ไปเขตภูเขามณฑลกุ้ยโจว เมื่อได้ข่าวว่า คุณยายบ้านไหนเสียชีวิตไป ลายปักดอกสาลี่ที่คุณยายปักนั้นไม่มีใครปักได้อีกแล้ว หรือหญิงสาวบ้านไหนไปหางานทำในเมือง ฝีมือปักผ้าของบ้านเธอขาดผู้สืบทอด ซึ่งทำให้ดิฉันรู้สึกเสียดายมาก” ด้วยเหตุนี้ นางเซี่ย หวา จึงตัดสินใจเปิดห้องทำงานหัตถศิลป์ของกลุ่มอีเหวิน เพื่อศึกษาค้นคว้าและรวบรวมศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมที่ใกล้สูญหายไป และให้ศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ทันสมัยขึ้น อีกทั้งเปิดโลกของนักปักผ้าชาวเขาให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น ผลงานผ้าปักของบรรดานักปักผ้าชาวเขาแม้จะมีฝีมือละเอียดประณีตและมีความหลากหลายก็ตาม แต่ยากที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มโดยตรง จึงต้องคัดเลือกลายปักที่สวยงามและรังสรรค์ลายปักใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลุ่มอีเหวินได้สร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินปักผ้ากับลายปักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ปัจจุบัน ฐานข้อมูลลายปักของกลุ่มอีเหวินได้รวบรวมลายปักต่าง ๆ จำนวนกว่า 5,000 ลาย โดยแต่ละลายต่างมีภาพเวกเตอร์ และแหล่งที่มาประกอบด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักออกแบบทั่วโลกใช้เป็นประโยชน์และอ้างอิง ปัจจุบัน ฐานข้อมูลลายปักของกลุ่มอีเหวินชวนให้แบรนด์ชั้นหนึ่งระดับโลกต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเว็บ B&H แบรนด์ Burberry และแบรนด์ Aspinal ของอังกฤษ กลายเป็นลูกค้าของนักปักผ้าจีน เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก สหราชอาณาจักร และนายจอห์น พีช ประธานกรรมการแบรนด์เบอร์เบอรี่ต่างได้เคยเดินทางไปเยี่ยมเยือนเขตภูเขามณฑลกุ้ยโจว เนื่องในโอกาสที่จีน-อังกฤษสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 45 ปี กลุ่มอีเหวินยังได้จัดแฟชั่นโชว์ในหัวข้อ “ความฝันแห่งศิลปะการปักผ้า” ณ สถานทูตจีนประจำอังกฤษ บรรดานักปักผ้าชาวเขาจากมณฑลกุ้ยโจวได้นำผลงานของตนไปจัดแสดงในงานครั้งนี้ด้วย ฐานข้อมูลของกลุ่มอีเหวินได้เผยแพร่ศิลปะการปักผ้าดั้งเดิมของจีนไปทั่วโลกผ่านทางออนไลน์ ส่วนทางออฟไลน์ กลุ่มอีเหวินได้จัด “ตลาดนัดเขตภูเขา” เพื่อประชาสัมพันธ์ศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ของจีน โดยจัดแสดงลายปักดั้งเดิม ผลงานหัตถกรรม และขนมพื้นบ้านจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนด้วยวิธีที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งจีนและต่างประเทศสัมผัสบรรยากาศตลาดนัดในเขตภูเขาอย่างรอบด้าน ขณะเดียวกัน กลุ่มอีเหวินยังได้ร่วมมือกับนักออกแบบและศิลปินหัตถกรรมจากทั่วโลก พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วโลกเที่ยวตลาดนัดที่จัดขึ้นทางอินเตอร์เน็ตอย่างอิ่มใจ และอำนวยโอกาสให้บรรดาช่างฝีมือและชาวชนบทจากท้องที่ต่าง ๆ แสดงฝีมือที่ช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน เมื่อค.ศ. 2018 กลุ่มอีเหวินได้จัด “ตลาดนัดเขตภูเขา” ในห้างเฉียวฝูฟางเฉ่าตี้ กรุงปักกิ่ง และห้าง momopark เมืองซีอาน เป็นต้น จำนวน 10 กว่าห้างตามลำดับ โดยโฆษณาศิลปะหัตถกรรมแบบดั้งเดิมจากเขตภูเขาให้แก่ผู้บริโภคในเมืองดังกล่าว นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ของใช้ในบ้าน และสินค้าต่าง ๆ เกือบ 100,000 อย่าง ซึ่งเกี่ยวพันถึงศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมแขนงต่าง ๆ หลายสิบแขนงอีกด้วย โดยดึงดูดผู้บริโภคหลายล้านคน ในตลาดนัดดังกล่าว ผู้บริโภคไม่เพียงแต่สามารถหาซื้อของขวัญที่มีเอกลักษณ์จากขุมทรัพย์หัตถกรรมที่แทบจะถูกลืมในยุคการค้าได้เท่านั้น หากยังสามารถเรียนทำหัตถกรรมกับช่างฝีมือได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ลองย้อมสีผ้าพันคอผืนหนึ่ง หรือทำเสื้อทีเชิ้ตตัวหนึ่ง หรือไม่ก็พับผ้าเป็นรูปดอกไม้ จากกิจกรรมดังกล่าว ผู้คนทั้งหลายได้มีความเพลิดเพลินในการสร้างผลงานหัตถกรรม ตามสถิติพบว่า ช่วงที่จัด “ตลาดนัดเขตภูเขา” มีจำนวนคนที่เดินห้างเพิ่มมากกว่าปกติ 5 เท่า เวลาที่อยู่ในห้างเฉลี่ยต่อคนนานกว่าปกติ 3 เท่าขึ้นไป ผลงานหัตถกรรมอันละเอียดประณีตของบรรดานักปักผ้าที่ได้รับการอบรมจากห้องทำงานหัตถศิลป์กลุ่มอีเหวิน ไม่เพียงแต่มีเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ กระเป๋าหิ้ว รองเท้า และเนคไท เป็นต้น หากยังมีสมุด ของใช้ในบ้าน และของขวัญอีกด้วย รวมแล้วมีผลิตภัณฑ์ที่ขายดี 1,000 กว่าชนิดที่จัดอยู่ใน 100 ประเภทใหญ่ นอกจากนี้ กลุ่มอีเหวินยังได้บุกเบิกพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม บันเทิง ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับศิลปหัตถกรรมอีกด้วย ผ่านการมอบหมายอำนาจและความร่วมมือ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นชุด ทำให้ศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในเขตที่ห่างไกลและด้อยพัฒนาได้มีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ กลุ่มอีเหวินยังชูแนวคิดการออกแบบที่ว่า “เห็นคนเห็นของเห็นวิถีชีวิต” เพื่อผลักดันให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ และได้รับการพัฒนาเชิงนวัตกรรม กล่าวสำหรับบรรดาหญิงปักผ้าที่มาจากเขตภูเขามณฑลกุ้ยโจว ห้องทำงานหัตถศิลป์กลุ่มอีเหวิน ช่วยให้ความปรารถนาที่เรียบง่ายของพวกเธอคือ “แบกลูก ปักผ้า เลี้ยงชีพตนเอง และเลี้ยงชีพครอบครัว” ได้ประจักษ์เป็นจริงขึ้น กลุ่มอีเหวินช่วยให้พวกเธอสามารถใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยฝีมือของตนเอง นักปักผ้าจำนวน 13,000 คนที่ได้เซ็นสัญญากับกลุ่มอีเหวิน เมื่อก่อนมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 500 หยวน หลังจากได้มีใบสั่งซื้อจากกลุ่มอีเหวินแล้ว รายได้ของพวกเธอส่วนใหญ่มี 1,500 หยวนต่อเดือน สำหรับนักปักผ้าฝีมือดีมีรายได้ 20,000 - 30,000 หยวนต่อปี ส่วนผลงานผ้าปักชั้นดีขายได้ในราคาประมาณชิ้นละ 1,000 หยวน คุณยายพาน ยวี่เจิน ที่กล่าวมาข้างต้น มีรายได้มากกว่า 1,000,000 หยวนต่อปี เมื่อมีรายได้ที่มั่นคงแล้ว บรรดานักปักผ้าชาวเขาไม่ต้องเลิกทำงานการปักผ้าที่ใจชอบ และไม่ต้องไปหางานทำที่ต่างจังหวัดโดยทิ้งพ่อแม่ลูกในบ้าน ตามคำกล่าวของพวกเธอคือ “แม่กับลูกสาวกลับบ้านแล้ว” หลังจากกลุ่มอีเหวินจัดตั้งห้องทำงานหัตถศิลป์แบบครอบครัวและพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมในเขตภูเขาขึ้น และให้การอบรมแก่บรรดานักปักผ้า บรรดา “แม่กับลูกสาว” ที่กลับบ้านมา หันไปปักผ้าที่เลิกทำอีก โดยปักผ้าไปพลาง และอยู่เป็นเพื่อนกับสมาชิกครอบครัวไปพลาง หมู่บ้านในเขตภูเขาที่เคยว่างเปล่า ค่อย ๆ ฟื้นความคึกคักและมีชีวิตชีวาอีก จากห้องทำงานหัตถศิลป์ของกลุ่มอีเหวิน บรรดานักปักผ้าได้มีโอกาสพบเห็นโลกที่กว้างไกลยิ่งขึ้น ในอดีต บรรดานักปักผ้าชาวเขามณฑลกุ้ยโจวคิดว่า เมืองที่ห่างไกลที่สุดก็คือกรุงปักกิ่ง การไปให้ถึงกรุงปักกิ่งเป็นความปรารถนาสูงสุดของพวกเธอ ต่อมา พวกเธอไม่เพียงแต่ได้มีโอกาสไปกรุงปักกิ่ง หากยังแต่งชุดประจำเผ่าที่สวยงาม และเปิดตัวใน “ตลาดนัดเขตภูเขา” ในศูนย์การค้าที่ทันสมัยของเมืองต่าง ๆ อีกด้วย พวกเธอร้องรำทำเพลงและเล่านิทานเกี่ยวกับศิลปะการปักผ้าให้ชาวเมืองฟังอย่างมีความมั่นใจ นอกจากนี้ ยังมีศิลปินปักผ้าชาวเขาหลาย ๆ คนได้ไปต่างประเทศเพื่อแสดงฝีมือการปักผ้าในงานแฟชั่นโชว์ระดับโลกที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอน กรุงปารีส และเมืองมิลาน ที่แรก บรรดานักปักผ้าชาวเขายังสงสัยว่า จริงหรือ ผ้าปักของเราเป็นที่นิยมชมชอบของชาวเมือง แต่ปัจจุบัน ความสงสัยดังกล่าวถูกความมั่นใจทดแทน ต่อหน้าแขกทั้งจีนและต่างประเทศ พวกเธอเปิดใจเล่าประสบการณ์ของตนด้วยความยินดีและภาคภูมิใจ ช่องว่างระหว่างตัวเมืองกับเขตภูเขาลดน้อยลง คำบรรยายของผู้สืบสานวัฒนธรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจทางวัฒนธรรมของประชาชาติจีน มณฑลกุ้ยโจวมีประชากรยากจนจำนวนมากที่สุดในจีน จึงมีภาระหน้าที่หนักที่สุดในการขจัดความยากจน ในช่วง 5 ปีระหว่าง ค.ศ. 2012-2017 มณฑลกุ้ยโจวได้ลดประชากรยากจนในเขตชนบทรวมถึง 6,708,000 คน คิดเป็น 1 ใน 10 ของประชากรที่พ้นจากความยากจนทั่วประเทศจีน ส่วนอัตราที่ก่อให้เกิดความยากจนลดจาก 14.3% มาเป็น 7.75% รายได้ที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้จริงเฉลี่ยต่อคนของชาวชนบทได้เพิ่มจาก 4,753 หยวนมาเป็น 8,869 หยวน การผลิตและชีวิตความเป็นอยู่ในเขตยากจนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบัน มณฑลกุ้ยโจวได้บรรลุเป้าหมายที่จะช่วยให้คนยากจนจำนวน 1 ล้านคนขึ้นไปพ้นจากความยากจนอย่างตรงจุดในทุกปี ทุกวันนี้ เวลากล่าวถึงความยากจน ชาวมณฑลกุ้ยโจวจะไม่ตกใจจนเปลี่ยนสีหน้าอีก งานช่วยเหลือคนยากจนของมณฑลกุ้ยโจวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่าในการขจัดความยากจนต่อพื้นที่อื่น ๆ ของจีน ตลอดจนเขตด้อยพัฒนาทั่วโลก ทั้งนี้ หญิงปักผ้าชาวเขามณฑลกุ้ยโจวได้สร้างภาพลักษณ์ที่งดงามยิ่งในกระบวนการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของจีน เขียนโดย ลิ่น จื่อโอว แปลโดยอาจารย์ฟาน จูน