ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ในโลกแห่งความลำพัง ชีวิตอาจตกอยู่กับห้วงภวังค์ของความเปลี่ยวเศร้าหม่นหมองได้ทุกเมื่อ..ในความมีอยู่และเป็นอยู่ของวันนี้ ท่ามกลางความเจ็บปวด เหนื่อยล้า หรือสับสน...ความมืดมนที่เกี่ยวพันกันในลักษณะนี้ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ..นั่นหมายถึงว่าชีวิตของคนเราทุกคนคือการดำรงอยู่เพื่อเอาชนะความสิ้นหวัง..แท้จริงความเป็นชีวิตก็เหมือนกับการวิ่งแข่ง แม้ว่าเราจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ทว่าสิ่งที่ทำให้เราออกตัววิ่งไปนั้นหาใช่เงินมากมายในกระเป๋า แต่มันคือความฝันที่ลุกโชน ..และพลังที่จะทำให้ชีวิตวิ่งไปเบื้องหน้าจนสุดทางนั้น ก็หาใช่ความโชคดีที่ถูกเสกขึ้นมา แต่มันคือตัวเราที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง” แก่นแห่งความคิดอันสำคัญยิ่งข้างต้นนี้คือ..สาระจากหนังสือแห่งพลังของการปลุกตื่นและโอบประคองชีวิตทุกๆชีวิตที่ร่วงล้มลงไปอย่างสิ้นท่า มันคือจักรวาลของการเรียนรู้ทางปัญญา ผ่านข้อเขียนอันงดงามแห่งใจของ “คิมรันโด”หรือ “อาจารย์รันโด”จากมหาวิทยาลัยโซล ประเทศเกาหลีใต้ เจ้าของผลงานเขียน”เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด”และ”พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่”..หนังสือเล่มแรกได้รับการตีพิมพ์ในประเทศต่างๆหลายประเทศนับแต่ ไทย ไต้หวัน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ บราซิล ญี่ปุ่น เวียดนามฯลฯ/เป็นหนังสือที่ติดอันดับหนึ่งหนังสือขายดีในเว็บไซต์แอมะซอนดอทคอม ประเทศจีนยาวนานถึง 16 สัปดาห์/ ส่วนหนังสือเล่มที่สอง..ได้รับการตีพิมพ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น ไทยฯลฯ และมียอดขายในเกาหลีสูงถึง 6 แสนเล่ม/และสำหรับ... “ในเวลาที่หม่นเศร้า ชีวิตก็ยังเป็นของเรา” ผลงานแปลอย่างละเมียดละไมโดย”วิทิยา จันทร์พันธ์”เล่มนี้คือหนังสือที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่ว่า “ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ ก็ยังมีความหวัง”(While I breath,I hope) หรือ “Dum Spiro Spera”ในภาษาละติน../ “คิมรันโด” เขียนหนังสือเล่มนี้ได้อย่างลึกซึ้งต่อการปลอบโยนจิตใจและให้แรงบันดาลใจต่อทุกๆคนในแง่มุมที่ตื่นตระการและมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง..โดยเฉพาะการนำเสนอแนวคิดผ่านข้อคำถามสำคัญที่ว่า.. “คำตอบในชีวิตของเราต้องมีแค่หนึ่งข้อเท่านั้นหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้น มันต้องขึ้นอยู่กับอะไรกันล่ะ..เราจำเป็นต้องทำตามที่สังคมตีกรอบเอาไว้หรือเปล่า?” คำถามนี้ชี้ให้เราได้ประจักษ์ถึงว่า..ในความเป็นชีวิตนั้น..มันจำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างความพึงพอใจกับความสำเร็จให้เจอ...วลี”ชีจกกุรัก”อันหมายถึง”หากรู้ความพึงพอใจของตัวเอง ก็จะรู้สึกถึงความพอใจได้เพลิดเพลินขึ้น”...คำตอบอันเป็นดั่งคำสอนนี้อธิบายถึงว่า..ถ้ายังไม่รู้ถึงความพึงพอใจของตนเองก็มีแต่ชีวิตจะยิ่งโลภหนักขึ้น จนท้ายที่สุดก็ไม่แคล้วต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก แต่ถ้าหากเรามีความพึงพอใจอย่างพอดี ก็จะค้นพบเส้นทางแห่งความเพลิดเพลินได้ตลอดไป “ผมไม่รู้ความพึงพอใจของตนเองมาเนิ่นนานแล้ว จึงไม่รู้ว่าควรแสวงหาสิ่งใด ที่ผ่านมาได้แต่วิ่งโดยไม่หยุดพัก มันเตือนสติผมว่า ตอนนี้จงหยุดวิ่ง แล้วถามตัวเองดูว่า ที่พยายามไปทั้งหมดนั้นเพื่ออะไรกัน ..ไม่ใช่กำลังละเลยคุณค่าที่แท้จริงของความสำเร็จอยู่ใช่ไหม?..จงทบทวนดูว่าผลงานที่สำเร็จลุล่วงนั้น เป็นความต้องการที่แท้จริงใช่หรือไม่?”ชีจกกุรัก”สี่คำนี้กำลังย้ำเตือนผมอยู่” “คิมรันโด”ได้แสดงทัศนะอันเป็นคุณประโยชน์ต่อการรู้จัก “ความรู้สึกของการใช้ชีวิตอย่างมีค่าผ่านประสบการณ์ของการที่เราทุกคนล้วนต่างมีช่วงเวลาที่เป็นทุกข์อย่างแสนสาหัส...มันคือช่วงเวลาที่ชีวิตต้องอดกลั้นเมื่อเผชิญหน้ากับความทุกข์ มันคือช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจจากของสูงที่พยายามเอื้อมคว้าสุดกำลัง เป็นช่วงเวลาที่ไร้ความรู้สึกราวกับว่าทั้งร่างกายและจิตใจได้ถูกฉีกทึ้งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนไม่สามารถเรียกกำลังใจคืนกลับมาได้..คำถามก็คือว่า..ในช่วงเวลาที่เป็นวิกฤติเช่นนี้เราสามารถทำอะไรได้บ้าง?/หรือมนุษย์ผู้อ่อนแอจะสามารถถอดทนต่อความทุกข์แสนสาหัสเหล่านั้นได้นานสักเพียงไหน?.. “ผมผ่านประสบการณ์ความทุกข์มามากมาย ผ่านช่วงเวลาที่เพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวเสียชีวิตลง สูญเสียคนที่รัก ทั้งที่รู้ความปรารถนาของตนเองแต่ก็ไม่สามารถทำให้มันเป็นจริงได้...หลายครั้งที่ผมต้องเผชิญหน้ากับความอับอายจนตัวเองดูไร้ค่า ตอนจะนอนก็ยากที่จะข่มตาให้หลับ แม้จะยืนหยัดขึ้นก็ดูโซเซคล้ายคนสิ้นสติ เป็นช่วงเวลาที่ผมถูกกลืนกิน”.. นี่คือจุดไหวสะท้านสำคัญต่อความอ่อนล้าและไร้หวังของชีวิต..เราจะสามารถนำความแข็งแกร่งให้บังเกิดแก่ชีวิตด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยมได้อย่างไร?/หากไม่ใฝ่ฝันถึงชัยชนะเอาเสียเลย..เราควรทำเช่นไรหากความเป็นชีวิตต้องตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้./.สำหรับ”คิมรันโด”เขาพยายามที่จะชี้ให้เห็นทางออกว่า..จะต้องสั่งร่างกายให้ลุกขึ้นได้เสียก่อน..เพราะเขาเชื่อว่า ร่างกายกับจิตใจเชื่อมโยงถึงกัน และครั้นเมื่อต้องการให้หัวใจทำตามที่สั่ง ก็จำเป็นที่เราต้องสั่งร่างกายของตัวเองเสียก่อน /ถ้าหากจิตใจเหนื่อยหน่าย ร่างกายก็พลอยเหนื่อยล้าไปด้วย/แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าร่างกายอ่อนแอ หัวใจก็พลอยหม่นเศร้าไปด้วย... “จากประสบการณ์ที่ผ่านมาครั้งแล้วครั้งเล่า ผมพบว่า ถ้าอยากให้หัวใจเข้มแข็งต้องเริ่มต้นจากการปลุกร่างกายให้ฟื้นขึ้นเสียก่อน..อันดับแรกต้องเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ให้ได้ เพราะตามปกติแล้วหากคืนไหนที่เราดื่มเหล้าหนัก ในวันถัดมาหัวใจจะยิ่งรู้สึกเศร้าและว่างเปล่าเป็นพิเศษ พานให้รู้สึกหดหู่มากขึ้น...นอกจากนี้ต้องตั้งใจออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กีฬาที่ก่อประโยชน์อย่างมากก็คือการว่ายน้ำ เพราะมันได้กลั้นลมหายใจ และปล่อยตัวเองให้จมดิ่งลงสู่น้ำลึก เหมือนได้รับการลูบไล้อย่างอ่อนโยน..การว่ายน้ำต้องใช้แรงเยอะ จึงทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย แก้อาการนอนไม่หลับ ความรู้สึกกระสับกระส่ายยามค่ำคืน/เป็นการปิดผลึกความกังวลใจ ตราบจนรุ่งสาง เป็นวิธีที่ทำให้จิตวิญญาณได้ออกกำลังกายและพักผ่อนไปในตัว” แท้จริงแล้ว..ช่วงที่เรารู้สึกเป็นทุกข์ เรามักจะปลีกตัวอยู่คนเดียว..แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะผ่านมันไปเพียงลำพัง แต่ถึงกระนั้นมันก็ทำให้คนเราทุกคนคุ้นชินกับเสียงภายในใจและความกังวลของตัวเราเอง../ในยามที่เราอยู่คนเดียว หลายคนอาจเลือกดูทีวี ดูภาพยนตร์ อ่านหนังสือ ทำความสะอาดฯลฯ..โดยเอาจิตใจไปผูกไว้กับงาน../สำหรับ”คิมรันโด”...เขาเลือกที่จะเขียนบทความ แต่ไม่ใช่บทความประเภทที่เขียนให้ผู้อื่นอ่าน แต่เป็นบทความที่ไร้ลำดับขั้นตอน เหมือนกับเป็นการเปลี่ยนความเครียด สาเหตุของปัญหา อารมณ์ ความคิดฯลฯให้เป็นบทความ เหมือนที่หุ่นยนต์ในภาพยนตร์เรื่อง”แชปปี้”(Chappie)”หุ่นยนต์เปลี่ยนโลก..ได้ย้ายวิญญาณตัวเองผ่านคอมพิวเตอร์/ปัญหาต่างๆก็คล้ายจะถูกถ่ายทอดลงสู่แผ่นกระดาษ มันไม่ใช่”การทำสำเนาเอกสาร” แต่เป็นกระบวนการ”คัต-เพสต์”หรือการโยกย้ายปัญหาและความวิตกกังวลไปไว้ที่อื่นแทน เพราะขณะที่เขียนความทุกข์และความวิตกลงไปในกระดาษ . .. “ผมก็แอบวาดหวังว่าสิ่งต่างๆในหัวจะถูกลบเลือนไปด้วย...ตัวอย่างจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ทดลองแบ่งนักเรียนที่มีความเครียดออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้ทำข้อสอบตามปกติ ส่วนอีกกลุ่มให้เขียนบทความสรุปความเครียดของตัวเองก่อนสอบ/ผลปรากฏว่านักเรียนกลุ่มที่เขียนความเครียดของตัวเองมีคะแนนสอบสูงกว่า เนื่องจากพวกเขาได้ลบความกังวลใจออกไป จึงมีสมาธิในการสอบเพิ่มขึ้น /เหตุนี้การเขียนบทความจึงน่าจะจำกัดความเครียดได้เช่นกัน” ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดก็คือว่า..จากประสบการณ์เหล่านี้.มันจะชี้ให้เราได้ประจักษ์ว่า..ร่างกายของเราอาจสำคัญมากก็จริง แต่ปัญหาทางใจยังไงเสียก็ต้องเริ่มต้นแก้ที่จิตใจเสมอ..เหมือนดั่ง...ในสมัยที่ยังไม่มีเข็มทิศ ชาวประมงจะกางใบเรือออกแล่นไปสู่ดาวเหนือ มิได้หมายใจโลดแล่นไปให้ถึงดวงดาว แต่เพราะในความมืดราวเถ้าธุลีดิน มีเพียงดาวเหนือเท่านั้นที่มั่นคงและหนักแน่น พร้อมนำทางพวกเขาไป /ความฝันอันหนักแน่นของพวกเราก็เช่นกัน มันพร้อมจะนำทางเราไปสู่เส้นทางสายสำคัญ ดังนั้นถึงแม้ขณะนี้เราจะรู้สึกหม่นเศร้า ก็จงอย่าละสายตาไปจากดาวเหนือดวงนั้น “ไม่แปลกหรอกถ้าคุณจะรู้สึกหวั่นไหว แต่จงใช้ชีวิตไปตามความคิดของตัวเอง และต่อให้รู้สึกสิ้นไร้หนทาง ก็จงเป็นตัวของตัวเอง เปล่าเปลี่ยวเพียงใดก็จงลุกขึ้นให้ได้อีกครั้ง/และขณะที่วาดฝันถึงดาวเหนือดวงนั้น จงจำไว้ว่า ณ ตำแหน่งที่คุณยืนอยู่ในตอนนี้นั้น เป็นคำตอบที่ถูกต้องแล้ว มันเป็นจุดศูนย์กลางของโลกทั้งใบ” ผมถือว่า..หนังสือเล่มนี้คือความงดงามแห่งเจตจำนง ของ”ครูผู้สอนสั่งชีวิต.”..มันเต็มไปด้วยภาษาของความวาดหวังที่อิ่มเอมใจ เป็นศรัทธาแห่งความคิดหวังในชีวิตที่จะไม่สยบยอมต่ออุปสรรคใดๆ...วิธีการอันหลากที่ถูกนำเสนอเป็นองค์ประกอบแห่งการรู้เท่าทันความหมายของชีวิต ที่”คิมรันโด”ได้กลั่นออกมาจากประสบการณ์อันฝังลึก ล้วนคือนัยความหมายของการเรียนรู้และรับรู้อย่างรื่นรมย์และเข้าใจ...ด้วยการเน้นย้ำถึงการตระหนักในวิถีแห่งประสบการณ์และการก้าวย่างทางความคิดที่แนบชิดกับชีวิตอย่างชิดใกล้ที่สุด/เพียงแต่เราต่างไม่ใส่ใจและสนใจที่จะมองเห็นและสัมผัสกับมัน..บทเริ่มต้นขั้นพื้นฐานเล็กๆในครอบครัว คือบทขยายใหญ่แห่งคำสอนที่จริงจังอันสื่อถึงอุทาหรณ์อันเข้มข้นอันยากจะปฏิเสธ “ในเมื่อเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้...ก็จงใช้มันเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” “คิมรันโด”เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยสายตาแห่งแรงบันดาลใจของผู้เป็นครู..สู่โลกของบุตรหลานในการเติบใหญ่ของพวกเขา บทสรุปแห่งเจตจำนงนี้ถือเป็นความสมบูรณ์จากบทเริ่มต้นของความเป็นอัตตะ สู่ภาวะที่เปิดกว้างอันเป็นที่สุดต่อการสรรค์สร้างชีวิตแก่ทั้งบุตรหลานและลูกศิษย์ลูกหาที่พร้อมจะเติบใหญ่เพื่อความงดงามตามวัยทุกๆคน “สำหรับการฝีกการอ่านหนังสือให้แก่เด็กๆ...ช่วงแรกพวกเขาอาจรู้สึกเบื่อ แต่ก็ต้องค่อยฝึกฝนจนกว่าจะปรับตัวได้ หลังจากพวกเขาจมดิ่งสู่จินตนาการ และการครุ่นคิดเพียงลำพังก็จะเริ่มสนุกกับการอ่าน/ผมคิดว่างานที่ยากที่สุดในโลกก็คือการเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น..ในสมัยเรียนคนที่เรียนดีมักจะได้คำชมว่าเป็นเด็กดี เด็กกตัญญู แต่ทว่าเมื่อใช้ชีวิตจริงๆในสังคม คนที่ฉลาดหลักแหลมกลับมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า ซึ่งพวกเราสามารถปลูกฝังเรื่องปัญญาและความหลักแหลมได้ด้วยหนังสือ/ความต้องการเพียงประการเดียวที่ผมอยากได้จากลูกๆ ไม่ใช่การเรียนที่ได้เกรดเฉลี่ยดีๆ..แต่ผมอยากให้พวกเขามีนิสัยรักการอ่าน” “ในเวลาที่หม่นเศร้า ชีวิตก็ยังเป็นของเรา” คือของขวัญแห่งกาลเวลา สำหรับปีใหม่ปีนี้ที่ผมปรารถนาที่จะมอบแด่ผู้อ่านทุกๆคน ด้วยหวังถึงว่าความฝันอันเอกอุ จักบังเกิดแก่ชีวิตอย่างมีคุณค่า ด้วยสัมผัสรู้จากหัวใจอันเปิดกว้าง..ไม่ผูกมัด และเปี่ยมเต็มไปด้วยความเป็นเสรี.. “เธอจะต้องแสวงหาความฝันของเธอ แล้วเส้นทางจะง่ายขึ้นเอง /แต่ย่อมไม่มีความฝันใดที่จะจีรังมั่นคง ความฝันเดิมอาจเปลี่ยนเป็นความฝันใหม่ อย่าได้ผูกมัดตัวเองไว้กับ..ความฝันใด”