พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า (พระปกเกล้าสกายปาร์ค) โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ผู้บริหารเขตพระนคร ผู้บริหารเขตคลองสาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ สวนสมเด็จพระปกเกล้า เขตพระนคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า หรือโครงการปรับปรุงสะพานพระปกเกล้าสกายปาร์ค เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน และทางจักรยาน เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี พร้อมจุดชมวิวที่สวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้บนสะพาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน – คลองสาน โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการในการดำเนินการ ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มต้นสัญญาวันที่ 28 มี.ค.62 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 23 มี.ค.63 ระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน เริ่มจากปลายสะพานฝั่งพระนครเหนือสวนสมเด็จพระปกเกล้า เขตพระนคร ถึงปลายสะพานฝั่งธนบุรีเหนือ สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตคลองสาน ระยะทางประมาณ 280 เมตร มีทางขึ้น - ลงสะพาน 2 แห่ง เป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลิน ที่ดำเนินการค้างไว้และปัจจุบันไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างดังกล่าว ปัจจุบันผลงานโดยรวมทำได้ร้อยละ 62 ประกอบด้วย เจาะเสาเข็มระบบแห้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ติดตั้งแนวป้องกันบนโครงสร้างสะพาน เทปูนฐานรากบนสะพาน และงานโครงสร้างบันไดฝั่งพระนคร คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ในวันที่ 15 พ.ค.63 ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนประชาชนร่วมประกวดตั้งชื่อสะพานพระปกเกล้าสกายปาร์ค ที่สื่อความหมายชัดเจนและแสดงอัตลักษณ์ของสะพานดังกล่าว โดยมีรางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 15,000 บาท ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ทางเว็บไซต์ http://cpd.bangkok.go.th ตั้งบัดนี้ถึงวันที่ 31 ม.ค.63 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0 2354 1279-80 สำหรับโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลิน มีความยาวประมาณ 280 เมตร กว้าง 8.50 เมตร มีระยะห่างจากช่องทางเดินรถ สะพานพระปกเกล้าทั้งสองฝั่ง 0.80 เมตร ความสูงคงที่วัดจากระดับพื้นดินที่ 9 เมตร เมื่อเทียบกับสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาออกจะอยู่ระดับสูงกว่าประมาณ 2 เมตร ที่ปลายสะพาน และระดับเท่ากันที่กลางสะพาน ส่วนสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาเข้าจะมีระดับเท่ากันที่ปลายสะพานฝั่งธนบุรี ส่วนปลายสะพานฝั่งพระนครเป็นโครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น - ลง มีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ 40 เมตร และ มีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปกเกล้าฝั่งพระนคร ส่วนปลายสะพานฝั่งธนบุรีเป็น โครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น - ลง มีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ 40 เมตร และมีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนป่ากรุงเทพมหานครเฉลิมพระเกียรติ