ชสท. MOU สภาทนายความฯ ร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาองค์ผู้บริหารสหกรณ์การเกษตร พร้อมเปิดให้คำปรึกษา แนะเรื่องกฎหมาย ป้องกันเกิดข้อเสียเปรียบในการทำธุรกิจ
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ ในพระราชูปถัมภ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อจัดการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม การสัมมนา การประชุมทางวิชาการ การพัฒนาบุคลากรและกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ รวมทั้งข้อกฎหมาย ณ อาคารสภาทนายความ ในพระราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
นายศิริชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ กว่า 4,000 สหกรณ์ เกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้งในด้านวิชาการ หรือด้านกฎหมาย และการพัฒนาบุคลากร เนื่องจากสหกรณ์การเกษตรจะไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านกฎกหมายเกือบ 100% และปัจจุบันการทำธุรกิจ การค้าต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอยู่ตลอด ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง รวมทั้งพ.ร.บ.สหกรณ์ ฉบับที่ 3 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ทำให้การทำงานของสหกรณ์การเกษตรเจอปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น ผู้บริหารสหกรณ์ จำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ ซี่งความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสภาทนายความฯ ครั้งนี้ เชื่อว่า จะทำให้ผู้บริหารสหกรณ์ ทำงานอย่างมีความมั่นใจ มีประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อให้บริการแก่สมาชิกสหกรณ์ที่เป็นเกษตรกร
“สหกรณ์การเกษตรที่ดำเนินธุรกิจและมีปัญหาด้านข้อกฎหมาย เรามักจะพบหลังปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เช่น คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เวลาไปทำเรื่องกู้เงินกับสถาบันการเงิน คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จะต้องค้ำประกันเป็นการส่วนตัวทั้งคณะ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดใหม่ ก็ให้มีการค้ำประกันใหม่เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งดูแล้วไม่มีความเป็นธรรม หรือกรณีการทำธุรกรรมของสมาชิกสหกรณ์ มีการนำสินค้ามาขาย โดยให้สหกรณ์เป็นผู้รวบรวม เพื่อนำไปขายให้กับผู้ค้า การทำสัญญาบางครั้งเกิดความเสียเปรียบ ทำให้สหกรณ์ไม่สามารถฟ้องร้อง หรือดำเนินการบังคับคดีผู้ค้ากับสหกรณ์ได้ เมื่อปัญหาเกิดทำให้แก้ยาก ฉะนั้น จึงต้องมีการป้องกันปัญหา โดยได้หารือกับสภาทนายความฯ จะมีการออกรูปแบบสัญญาต่างๆ ให้สหกรณ์ใช้เป็นแบบฟอร์มเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และถ้ามีปัญหาสามารถปรึกษาสภาทนายความได้ทั้งระดับประเทศ และระดับจังหวัด”นายศิริชัย กล่าว
ด้านว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการ เนื่องจากสภาทนายความฯ มีความรู้ด้านกฎหมาย และทางวิชาการด้านต่างๆ โดยจะนำความรู้ตรงนี้ไปช่วยเหลือสหกรณ์การเกษตร และสมาชิกสหกรณ์ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะบุคคลเหล่านี้ยังมีจำนวนมากที่ยังไม่รู้กฎหมายด้านการเกษตร รวมทั้งกฎหมายด้านการเงิน หรือการทำสัญญาต่างๆ ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์หลักของสภาทนายความฯ ในการให้ความช่วยเหลือในด้านกฎหมาย
ทั้งนี้ สภาทนายความฯ มีสำนักงานสภาทนายความครอบคลุมทุกจังหวัด และมีศาลจังหวัด 112 แห่งทั่วประเทศ สหกรณ์การเกษตร และสมาชิกสหกรณ์ ที่มีปัญหาด้านข้อกฎหมาย ต้องการรับคำปรึกษา ข้อแนะนำสามารถไปติดต่อได้ที่สำนักงานสภาทนายความฯ หรือศาลจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น