สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อแผนแม่บทด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลระยะ ๕ ปี และระยะ ๑๐ ปี เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลของทุกภาคส่วน สอดคล้องตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ลดช.) กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ ซึ่งสอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ยุทธศาสตร์ที่ ๗ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ ที่มีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้น พัฒนาระบบและส่งแสริมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามกรอบพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ๒๕๖๐ หมวด ๑ การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป้าหมายและแนวทางในมาตรา ๖ ที่ระบุเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมว่า ต้องครอบคลุมการพัฒนาโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร แพร่เสียง แพร่ภาพในทุกรูปแบบไม่ว่าจะอยู่ในภาคพื้นดิน พื้นน้ำ ในอากาศ หรืออวกาศ รวมถึงการใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้แผนแม่บทฯ ที่เกิดขึ้นมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้อง สดช.จึงได้จัดสัมมนาฯขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อแผนแม่บทฯ และนำสิ่งที่ได้รับจากการประชุมมาปรับปรุงร่างแผนแม่บทฯ และจัดให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและรายละเอียดของยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้แผนแม่บทด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ในส่วนของแผนแม่บทฉบับนี้ประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ คือ ๑.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการติดต่อสื่อสาร แพร่เสียง และแพร่ภาพ ๒.การพัฒนาศูนย์ข้อมูลและการเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศ ๓.การพัฒนาบริการสำหรับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ๔.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศ ๕.การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเป้าหมายระยะ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๘) ตั้งเป้าให้โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลมีการเชื่อมต่อในทุกสถานที่ และสามารถเชื่อมต่อได้ด้วยความเชื่อมั่น และเป้าหมายระยะ ๑๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๗๓) ตั้งเป้าให้โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลมีการเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ เกิดการทำงานร่วมกัน และสามารถสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ โดยการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทฉบับนี้มีความเชื่อมโยงกันตั้งแต่วิสัยทัศน์ ไปจนถึงแผนงานโครงการสำคัญ (Flagship Project) จำนวนทั้งสิ้น ๗๗ โครงการ “สดช.มุ่งหวังว่ากลไกในการขับเคลื่อนดังกล่าว จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล มีสถาปัตยกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ (Digital Technology Infrastructure Architecture Design) ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)” เลขาธิการ สดช. กล่าวปิดท้าย