ที่ต่างประเทศ เมื่อกล่าวถึงอู่ซู่ ศิลปะการต่อสู้ของจีน ผู้คนก็จะนึกถึงหลี่ เสี่ยวหลง (Bruce Lee ) เฉิง หลง (Jackie Chan) และหลี่ เหลียนเจี๋ย (Jet Li) ดารากังฟูชื่อก้องโลก หลายๆ คนมักจะรู้จักศิลปะการต่อสู้ของจีนจากภาพยนตร์กังฟู และประทับใจใน “กำลังภายใน” “วิชาตัวเบา” และ “โฝซานอู๋อิ่งเจี่ยว” (ศิลปะการต่อสู้ด้วยเท้า) ที่น่าอัศจรรย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศิลปะการต่อสู้ของจีนที่แท้จริงไม่ได้เป็นอย่างที่แสดงในภาพยนตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้มวยปาจี๋ หรือมวยแปดปรมัตถ์ ศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งของจีน ประวัติยาวนาน โด่งดังไปทั่วโลก มวยปาจี๋ มีชื่อเต็มว่า “ไคเหมินปาจี๋ฉวน” โดยมีทฤษฎีพื้นฐานที่มาจากปรัชญาของศาสนาเต๋า จีนมีคำกล่าวว่า “บุ๋นมีไท่จี๋ (แหล่งกำเนิดของสรรพสิ่ง) สังคมสงบเรียบร้อย บู๊มีมวยปาจี๋ยุติการทำสงคราม” ซึ่งหมายความว่า จากการเปลี่ยนแปลง 64 รูปแบบของไท่จี๋ สามารถรู้เรื่องใต้หล้า และบรรลุซึ่งธรรมาภิบาลของสังคม จาก 64 กระบวนท่าของมวยปาจี๋ สามารถช่วยฝ่ายอ่อนแอต้านฝ่ายแข็งแกร่ง ยุติการทำสงคราม และบรรลุซึ่งความมั่นคงของสังคม เล่ากันว่า ปรมาจารย์แซ่ “ไล่” ในรัชกาลคังซีราชวงศ์ชิง เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นมวยปาจี๋ อู๋ จง ปรมาจารย์รุ่นที่ 2 ของมวยปาจี๋ ได้สร้างชื่อเสียงให้มวยปาจี๋เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ อู๋ จง ได้เคยเดินทางขึ้นเหนือลงใต้ เพื่อไปเยี่ยมและประลองฝีมือกับผู้มีกังฟูในแวดวงศิลปะการต่อสู้ของจีน นอกจากนี้ อู๋ จง ยังได้เคยไปท้าประลองฝีมือที่วัดเส้าหลินถึง 3 ครั้ง และได้รับชัยชนะในครั้งที่ 3 หลังกลับมาจากวัดเส้าหลิน ผู้มีวิชากังฟูท่านหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “รุ่นพี่” ของอู๋ จง มาถึงบ้านอู๋ จง โดยสอนอู๋ จง ถึงศิลปะการต่อสู้ด้วยตะบองยาว และได้ให้ตำราศิลปะการต่อสู้ด้วยตะบองยาวเล่มหนึ่งแก่ อู๋ จง ด้วย จากนั้น มวยปาจี๋และศิลปะการต่อสู้ด้วยตะบองยาวของอู๋ จง มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ ต่อมา อู๋ จง ย้ายไปอยู่ที่ปักกิ่ง และกลายเป็นครูสอนศิลปะการต่อสู้ของเจ้าชายองค์หนึ่งในราชวงค์ชิง ค.ศ. 1840 สงครามฝิ่นปะทุขึ้น มหาอำนาจฝ่ายตะวันตกอาศัยเรือเหล็กปืนใหญ่รุกรานจีน และสร้างความทุกข์ยากมหาศาลให้กับประชาชนจีน การกู้ชาติและการสร้างชาติให้เข้มแข็งขึ้นเป็นประเด็นหลักของคนจีนในสมัยนั้น อาจารย์ศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ พากันออกหน้าแสดงฝีมือ สังคมจีนก็ส่งเสริมให้ประชาชนฝึกศิลปะการต่อสู้เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย และหลุดพ้นจากความอ่อนแอ ด้วยเหตุนี้ ศิลปะการต่อสู้ของจีนได้เข้าสู่ยุคสมัยแห่งการแลกเปลี่ยนและการพัฒนา โดยกำจัดของปลอมจากของแท้ และมีอาจารย์ศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งเกิดขึ้น สงครามแรมปีและความไม่สงบทางสังคมได้อำนวยโอกาสต่างๆ ในภาคปฏิบัติและการสร้างนวัตกรรม เพื่อปรับปรุงศิลปะการต่อสู้ให้ดีขึ้น ในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ มวยปาจี๋ที่มีความเหนือกว่าในด้านการต่อสู้ระยะประชิด มีเทคนิคการต่อสู้ครบทุกด้าน มีท่วงท่าการต่อสู้ที่เรียบง่าย รวดเร็ว รุนแรง และว่องไว อีกทั้งเน้นหนักให้เอาชนะคู่ต่อสู้ในกระบวนท่าเดียว โดยเฉพาะให้ความสำคัญในการนำมาใช้งานในชีวิตจริง จึงกลายเป็นที่รู้จักกันดี และได้รับความสนใจจากฝ่ายต่างๆ โดยมีอาจารย์มวยปาจี๋หลายท่านได้รับคำเชิญไปเป็นผู้ฝึกสอนศิลปะการต่อสู้ในกองทัพหรือเป็นผู้อารักขาของบุคคลสำคัญทางการเมือง มวยปาจี๋ในฐานะเป็นมวยแขนงหนึ่งที่มีอิทธิพลมากในศิลปะการต่อสู้ของจีน มีการเผยแพร่ทั้งในจีนและต่างประเทศ อาจารย์และโรงเรียนที่สอนมวยปาจี๋ในจีนมีจำนวนมาก ที่ต่างประเทศ ไม่ว่ายุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออเมริกาเหนือ ต่างมีโรงเรียนมวยปาจี๋ที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้ฝึกสอน หากไปค้นคำว่า “#bajiquan” หรือ “#八极拳” ใน FACEBOOK หรือ INSTAGRAM จะพบว่า มีรูปภาพและวีดิทัศน์มวยปาจี๋มากมาย ด้วยการสืบทอดมาเป็นเวลากว่า 300 ปี มวยปาจี๋ได้พัฒนาจากมวยท้องถิ่นทางเหนือของจีน มาเป็นศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีและชื่นชอบ เข้าใจวัฒนธรรมจีนด้วยกาย ในวัฒนธรรมจีน คำว่า “อู่ซู่” หรือ ศิลปะการต่อสู้ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่ยุคอักษรบนกระดองเต่าและกระดูกวัวที่ห่างจากปัจจุบันกว่า 3,300 ปี ก็มีคำว่า “อู่” ที่มีความหมายว่า หาบอาวุธไปสู้รบ หนังสือเรื่อง “จั่วจ้วน” หนังสือโบราณที่บันทึกประวัติศาสตร์ของจีนเมื่อ 2,500-2,700 ปีก่อน ระบุว่า ยุคนั้น คนโบราณมีความเข้าใจเพิ่มเกี่ยวกับคำว่า “อู่” นั่นก็คือ เลิกใช้อาวุธ หรือสิ่งที่สามารถยุติการรบและยุติการศึกได้ ส่วนคำว่า “ซู่” ในพจนานุกรม “ซัวเหวินเจี่ยจื้อ” พจนานุกรมที่เก่าแก่ที่สุดของจีน มีความหมายว่า “ทาง” ต่อมามีการขยายความว่า วิธีการ หรือวิถีทาง สรุปแล้ว คนจีนเห็นว่า “อู่ซู่” ไม่เพียงแต่เป็นศิลปะการต่อสู้เท่านั้น หากยังเป็นวิธีการยุติการทำสงครามและยุติการปะทะกันได้อีกด้วย ในสายตาของอาจารย์หู ยวี่เทา ผู้ที่ฝึกมวยปาจี๋มาเป็นเวลา 27 ปีแล้ว “อู่ซู่” เป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมจีน “ยกตัวอย่างมวยปาจี๋ ทฤษฎี การสร้างความกล้าหาญ และวิธีการสอนนั้น ต่างมีแก่นแท้ของวัฒนธรรมจีนอยู่ในนั้น แต่การสืบสานศิลปะการต่อสู้ต่างจากการสืบสานหนังสือโบราณ ตามความหมายทางลายลักษณ์อักษรของคำว่า “อู่ซู่” ไม่สามารถสื่อความหมายทั้งหมดของศิลปะการต่อสู้ได้ เพราะว่า “อู่ซู่” เป็นภาษากายชนิดหนึ่ง ที่ต้องเรียนด้วยกาย เข้าใจด้วยกาย และแสดงออกด้วยกาย” อาจารย์หู ยวี่เทา เริ่มฝึกมวยปาจี๋ กับอาจารย์หลี่ เสวียกาง ตั้งแต่อายุ 16 ปี ส่วนอาจารย์หลี่ เรียนกับอาจารย์หลิว ซิงหวา แล้วอาจารย์หลิว เรียนกับปรมาจารย์อู๋ ซิ่วเฟิง ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นตัวแทนศิลปะการต่อสู้แห่งยุคสมัย ตอนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นใหม่ๆ ปรมาจารย์อู๋ ซิ่วเฟิง ได้เคยเข้าร่วมการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ระดับชาติ ท่านโจว เอินไหล และผู้นำประเทศคนอื่นๆ ต่างได้ไปชมการแข่งขันของปรมาจารย์อู๋ ซิ่วเฟิง หลังการแข่งขัน ปรมาจารย์อู๋ ซิ่วเฟิง ยังได้เข้าพบจอมพลผู้สร้างประเทศหลายท่านอีกด้วย ตอนวัยหนุ่ม อู๋ ซิ่วเฟิง ได้เคยเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อไปเยี่ยมผู้มีกังฟูให้ทั่วถึง ด้วยการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด อู๋ ซิ่วเฟิง จึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับมวยปาจี๋อย่างลึกซึ้ง ต่อมา ท่านเปิดรับลูกศิษย์อย่างกว้างขวางที่นครเทียนจินและมณฑลเหอเป่ย และได้สร้างคุณูปการสำคัญต่อการเผยแพร่และการส่งเสริมเชิดชูมวยปาจี๋ อาจารย์หลิว ซิงหวา อาจารย์หลี่ เสวียกาง และอาจารย์หู ยวี่เทา ทั้ง 3 ท่านดังกล่าวต่างได้รับผลกระทบจากปรมาจารย์อู๋ ซิ่วเฟิงอย่างมาก ย้อนไปเมื่อค.ศ. 2000 อาจารย์หู ยวี่เทา เป็นผู้จัดการของเว็บไซต์มวยปาจี๋แห่งหนึ่ง จึงได้มีโอกาสดำเนินการแลกเปลี่ยนบ่อยครั้งกับบรรดาผู้ที่ฝึกเล่นมวยปาจี๋ และผู้ที่ฝึกศิลปะการต่อสู้แขนงอื่นๆ เนื่องจากอาจารย์หูถนัดในการต่อสู้จริง จึงมีชื่อเสียงมากขึ้นในกลุ่มวัยกลางคนและกลุ่มวัยหนุ่ม ค.ศ. 2012 อาจารย์หู ยวี่เทา เปิดสอนศิลปะการต่อสู้ที่นครเทียนจินและกรุงปักกิ่ง ถึง ค.ศ. 2018 อาจารย์หู ได้เปิดหอศิลปะการต่อสู้ “หมิงเจี้ยนสิง” ที่กรุงปักกิ่ง เขาเขียนในบล็อกว่า การดำรงอยู่ของมวยปาจี๋ก็เพื่อการ “ต่อสู้” ท่วงท่าการต่อสู้ต่างๆ ของมวยปาจี๋ล้วนเพื่อการต่อสู้จริง วัฒนธรรมจีนมิเพียงแต่เขียนไว้บนแผ่นกระดาษเท่านั้น หากยังแสดงให้เห็นจากการออกกำลังกายและการต่อสู้ด้วย มวยปาจี๋เป็นของดี มีแต่ฝึกฝนด้วยตัวเองเท่านั้นจึงจะเข้าใจกันได้ กายบริหารที่แพร่หลาย ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่เรียนมวยปาจี๋กับอาจารย์หู ยวี่เทา มีถึงหลายพันคน ในจำนวนนี้ ไม่เพียงแต่มีคนจีนเท่านั้น หากยังมีคนต่างชาติที่เรียนหรือทำงานในจีนอีกด้วย อาจารย์หูได้เคยไปสอนมวยปาจี๋ในหมู่เจ้าหน้าที่สันนิบาตชาติแอฟริกาประจำประเทศจีนตามคำเชิญ และได้เคยไปสอนนักศึกษาต่างชาติที่เรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่กรุงปักกิ่งและนครเทียนจิน ผู้ที่เรียนมวยปาจี๋กับอาจารย์หู มีอยู่จำนวนไม่น้อยได้ฝึกเป็นระยะยาว “หู ยวี่เทากับมวยปาจี๋” มีชื่อเสียงโด่งดังมากทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งรวมถึง “เวยป๋อ” เว็บไซต์ไมโครบล็อกของจีน “โต่วยิน” หรือ Tik Tok แอปพลิเคชันวีดิทัศน์สั้นยอดนิยมของจีน ตลอดจน INSTAGRAM ต่างมีวีดิทัศน์ที่อาจารย์หู ชกมวยปาจี๋ ซึ่งได้รับคำชื่นชมมากมายจากผู้ชม การแสดงและการบรรยายศิลปะการต่อสู้มวยปาจี๋ของอาจารย์หู ใน TikTok มีผู้ติดตามชมนับ 10 ล้านคน/ครั้ง สังคมจีนปัจจุบัน ผู้คนนิยมการออกกำลังกาย การฝึกเล่นมวยปาจี๋กลายเป็นกายบริหารที่แพร่หลายทั้งในจีนและต่างประเทศ นายหวัง เฟิ่งเสียง วัย 36 ปี ฝึกมวยปาจี๋กับอาจารย์หู ยวี่เทา มาเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว เป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการเงิน โดยได้รับปริญญาโท 2 ฉบับจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และกำลังเรียนปริญญาเอกสาขาการบริหารธุรกิจอยู่ ปกติ เขาทำการบริหารจัดการสินทรัพย์ในบริษัทแห่งหนึ่ง ถือเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่างานยุ่งมาก แต่เขายืนหยัดตื่นนอนตอนตี 5 ทุกเช้าเพื่อฝึกมวยปาจี๋เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง สำหรับนายหวัง เฟิ่งเสียง มวยปาจี๋ไม่เพียงแต่เป็นกายบริหารเท่านั้น หากยังช่วยให้เขา “ใจเย็น” ด้วย เขากล่าวว่า “เมื่อก่อน เวลาเจอกรณีฉุกเฉินหรืองานด่วน มักจะก่อให้เกิดความวุ่นวายใจอยู่เสมอ หลังจากฝึกฝนมวยปาจี๋แล้ว ทำให้ผมคุ้นเคยกับความรู้สึกตึงเครียดและขัดแย้งกัน ซึ่งคนทั่วไปยากที่จะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ได้ ศิลปะการต่อสู้ช่วยให้ผมมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น” ในชีวิตยุคปัจจุบัน ศิลปะการต่อสู้ซึ่งรวมถึงมวยปาจี๋ยังคงได้รับความนิยมชมชอบจากมหาชน จากการฝึกศิลปะการต่อสู้ ผู้คนทั้งหลายไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้เทคนิคการต่อสู้เท่านั้น หากยังได้สร้างความแข็งแรงให้กับสุขภาพอีกด้วย เขียนโดย หลี่ เจิงขุย แปลโดยอาจารย์ฟาน จูน