คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
ฟังข่าว “ดร.ทางศาสนวิทยา” ท่านหนึ่งกล่าวว่า คำสอนเรื่องกรรมของพระพุทธเจ้า ทำให้คนไม่ดิ้นรน งอมืองอเท้า ยอมให้เขากดหัว แล้วก็ไม่สบายใจที่คนระดับนั้นยังไม่เข้าใจเรื่องกรรมในพุทธศาสนา
ทราบว่า ดร.ท่านนั้นหนีออกนอกประเทศ คง “ลี้ภัย” ด้วยเรื่องอะไรสักอย่าง
แสดงว่า ท่านได้รับความกดดันทางการเมืองแล้วเห็นว่าคนไทยซึ่งเป็นชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ยอมตนอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองที่ไม่ชอบธรรม ไม่คิดจะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะอธรรม และท่านมองว่า จิตใจของคนไทยถูกคำสอนเรื่องกรรมของพุทธศาสนาหล่อหลอมให้เป็นคนไม่ดิ้นรนขวนขวายเพื่อเอาชนะอธรรม
แต่ในความเป็นจริง คนไทย ซึ่งเป็นมนุษย์เหมือนทุกคนในโลก ก็มีการต่อสู้ดิ้นรนขวนขวายเพื่อการอยู่ดีมีสุขตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นในยุคราชาธิปไตยหรือในยุคประชาธิปไตย ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยและสภาพแวดล้อม
ทั้งหมดนั้น เป็นประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย
เหตุการณ์ “14 ตุลา” เป็นครั้งหนึ่ง ที่มีการต่อสู้ดิ้นรนของคนไทย อย่างเห็นได้ชัด
ทำให้มานึกถึงเรื่อง “กรรม” ของพระพุทธเจ้าที่เป็นเรื่องลึกซึ้ง ต่างจากกรรมที่เป็น “ความเชื่อ” ทั่วไป หรือกรรมในคำสอนของบางศาสนา
พุทธศาสนาสอนว่า มีการตายแล้วเกิดด้วยพลัง(อำนาจ) ของกรรม แต่ไม่ใช่ว่า กรรมนั้นให้ผลทันทีในชาติใดชาติหนึ่ง จนมีผู้ชอบ นำเรื่องการระลึกชาติมาเล่าให้เห็น “กฎแห่งกรรม” หรือบางท่านก็เล่าถึงการตายแล้วฟื้น ว่าไปเห็นภพชาติใหม่ในอีกโลกหนึ่ง เล่าเป็นตุเป็นตะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผลของกรรมเป็น “อจินไตย” อย่างหนึ่งคือเป็นเรื่องที่เกินวิสัยของความคิดหรือการหาเหตุผลเพื่ออธิบายได้คำว่า “ผลของกรรม” ท่านใช้คำว่า กัมมวิปากะ หมายความว่าการให้ผลของกรรมมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง จนใช้คำว่า หาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ได้
แต่เราก็พยายามจะใช้ความคิดหาเหตุผลอธิบายเรื่องผลของกรรม ทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยหยุดหย่อน
เมื่ออธิบายเรื่องคนตายแล้วไม่เห็นกลับมาบอกข่าวว่าตนไปอย่างไรอยู่อย่างไรในภพอื่น ก็มักจะยกคำถามคำตอบของ “พระกุมารกัสสปะ” (ในพระไตรปิฎก) ที่กล่าวถึงวันเวลาในโลกอื่นหรือในภพอื่นซึ่งต่างกัน เช่น 1 วัน 1 คืน ในดาวดึงส์ เท่ากับ 100 วัน 100 คืน ของโลกมนุษย์
คำกล่าวอย่างนั้น เป็นมิติของเรื่องเวลาเท่านั้น แต่ความจริง ในแต่ละภพของสัตว์โลก (สัตว์เดรัจฉาน-มนุษย์-เทวดา) มีอีกหลายมิติ ที่มีความแตกต่างกัน เช่น มนุษย์มีขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) หรือมีอายตนะ (ประสาทสัมผัส) ถึง 6 อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่สัตว์บางชนิดมีขันธ์ 5ไม่เท่ากับมนุษย์ หรือมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เหมือนกับมนุษย์ เมื่อไปเป็นสัตว์ประเภทนั้น ก็จำอะไรไม่ได้หรือคิดอะไรไม่เป็น ก็เป็นคำตอบอย่างหนึ่ง สำหรับข้อสงสัยที่ว่า คนที่ตายไปแล้วทำไมจึงไม่มาบอกข่าวว่าตนไปอย่างไรอยู่อย่างไร
แม้แต่เทวดาชั้นพรหม บางประเภท (เรียกว่า อสัญญีสัตว์) พระโพธิสัตว์ก็ไม่ไปเกิด เพราะเป็นสัตว์ที่ไม่มีความคิดความอ่านอะไรได้
คำว่า “สังสารวัฏฏ์” (อาจจะเขียนว่า “สังสารวัฏ” แต่คำว่า “วัฏ” ที่มี “ฏ” ตัวเดียว แปลว่า “ย่านไทร” ผมจึงพยายามใช้คำว่าสังสารวัฏฏ์ อันหมายถึง “การเวียนว่ายตายเกิด”) หมายถึงการตายแล้วเกิดในภพชาติต่างๆ จนนับไม่ถ้วน ช่วยอธิบายเรื่อง “กรรม” ในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี
พระพุทธเจ้าเห็นการเกิด (ชาติ) เป็นทุกข์ เพราะเห็นการเกิดแล้วเกิดอีกในภพต่างๆ อันเป็น “สังสารวัฏฏ์” นั่นเอง เป็นความทุกข์อันยาวนานเหลือเกิน จึงกลัวทุกข์และอยากให้สัตว์โลกทั้งมวลพ้นจากทุกข์อย่างนั้น
เมื่อจะอธิบายให้เห็นว่า การเกิดแล้วเกิดอีกในภพต่างๆมากมายอย่างไร พระพุทธเจ้ามักจะใช้วิธีอุปมาอุปมัยให้เห็นภาพ เช่น กระดูกของเราที่เกิดแล้วเกิดอีก ถ้ากองรวมกันก็จะมากมายเท่ากับภูเขา(เวภารบรรพต) คือ กองกระดูกในภพชาติต่างๆ จะกองเป็นภูเขาเลากานั่นแหละ ถ้าเป็นน้ำตา (ที่เกิดจากความทุกข์โศกในภพชาติต่างๆ) ก็จะเท่ากับน้ำในมหาสมุทร การที่จะไม่เกิดอีก มีโอกาสน้อยเหลือเกิน เหมือนโอกาสที่เต่าตาบอดในท้องทะเลที่โผล่หัวรับกับบ่วงเล็กๆ ที่ลอยล่องอยู่ในท้องทะเล ทั้งเต่านั้นก็ตาบอดทั้งบ่วงเล็กๆ นั้น ก็ลอยไปตามกระแสคลื่น โอกาสที่หัวเต่าจะสอดเข้าบ่วงนั้นเป็นไปได้อยากยิ่ง
อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ทรงยกให้เห็นความยาวนานของสังสารวัฏฏ์คือ ไม่มีใครที่ไม่เคย (เกิด) เป็นพ่อแม่ พี่น้อง ลุงป้า ฯลฯ หรือญาติซึ่งกันและกัน
การระลึกชาติต่างๆ จนเห็นสังสารวัฏฏ์ นั้น ไม่ใช่โดยวิธี “นึกเอา” หรือ “นึกตาม”
แต่เป็นการเห็นด้วย “ฌาน”
คำว่า “ฌาน” หมายถึ สมาธิที่แน่วแน่ถึงขั้นที่เรียกว่า “อัปปมาสมาธิ” ฌานขั้นต่ำที่เกิดอภิญญา (ความรู้พิเศษเหนือวิสัยมนุษย์ทั่วไป)มีอย่างหนึ่งคือ “บุพเพนิวาสานุสติ” (ระลึกชาติได้) ก็อาจจะระลึกชาติ (ของตน) ได้เพียงชาติเดียว ว่าเคยเกิดเป็นอะไร แต่ก็ยังไม่เห็นสังสารวัฏฏ์อันยาวไกล คนที่ได้ฌานขั้นต่ำอย่างนั้น จึงอาจจะยังไม่เห็นทุกข์
นึกถึงคำของหลวงปู่มั่น (ภูริทัตโต) ที่กล่าวว่าการเห็นกระแสจิตที่ไปเกิดใหม่ ต้องเห็นด้วยฌานเท่านั้น วิธีอื่นไม่มี
จึงมานึกว่า ความเห็นของ ดร. ทางศาสนวิทยาท่านนั้น น่าจะเป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ของคนเรียนหนังสือมากกว่า ท่านคงยังไม่เห็น “กรรม” ด้วยฌาน หรือยังไม่เห็น “สังสารวัฏฏ์ “นั่นเอง
ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องกรรม คงจะไม่เห็นเป็นการงอมืองอเท้าแต่จะเห็นเหตุปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมมากกว่า
อีกอย่างหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะความยึดถือในตัวเลขว่าคนไทยเป็นชาวพุทธที่แท้จริง (ซึ่งมีความเข้าใจในเรื่องกรรมเป็นอย่างดี) แต่ในความเป็นจริง ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ก็ไม่มีความรู้ในเรื่องกรรมอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่ยังเชื่อในเรื่องกรรมอย่างศาสนาอื่น (บางศาสนา) คือเชื่อว่ากรรมให้ผลเป็นดีเป็นชั่วตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อนนึกไม่เห็นกรรมในสังสารวัฏฏ์ตามคำสอนในพุทธศาสนา เมื่อนึกเห็นกรรมในช่วงสั้นๆ อย่างนั้นก็อาจจะ “งอมืองอเท้า” ได้ง่าย?
แต่พระพุทธเจ้านั้น ได้นามว่า “กัมมวาที” (สอนเรื่องกรรม) ด้วย ได้นามว่า “วิริยาวาที” (สอนเรื่องความเพียร)ด้วย
แม้ในชาติสุดท้าย พระพุทธเจ้าก็ใช้ความเพียรอย่างหนัก จึงได้ตรัสรู้ ชนิดว่าใช้ความเพียรเท่าที่มนุษย์พึงมีนั่นแหละ
อ่านพุทธประวัติตอนนี้แล้ว ยังนึกไม่เห็นใครที่ตั้งใจเด็ดเดี่ยวเอาเลือดเอาเนื้อเข้าแลก (ยอมตายไปข้างหนึ่ง) อย่างพระพุทธเจ้าเลย
แม้แต่การทำสมาธิ (เพื่อให้เกิดฌาน) พระพุทธเจ้าก็ให้เอาชีวิตเข้าแลก ใช้คำว่า “ปนิตตฺโต” (แปลว่า “มีตนอันส่งไปแล้ว”) บางท่านแปลว่า “มีใจเด็ดเดี่ยว” บางท่านใช้คำว่า “เอาชีวิตเข้าแลก” นั่นทีเดียว!
ถ้ายังกลัวตายอยู่ (หรือกลัวตัวเองจะเป็นอะไรไปก็ตาม)แม้แต่สมาธิก็ไม่อาจจะไปถึงได้
ฌาน เป็นกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ความเพียรเป็นอันมากผู้เจริญสมาธิหรือเข้าฌาน จึงเป็นผู้ที่ใช้ความเพียร มีความมุ่งมั่นสูง ไม่ใช่คนท้อแท้ งอมืองอเท้าแต่อย่างใด
การเข้าใจว่า กรรมทำให้คนไม่มีการต่อสู้ จึงเป็นความเข้าใจผิด
เป็นไปได้ว่า ความเข้าใจผิดเรื่องกรรม (ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า) เกิดจากความเข้าใจผิดในเรื่องกรรม เกิดจากการเข้าไม่ถึงความหมายที่แท้จริงของกรรม หรือไม่ก็เกิดจากการสรุปจากพฤติกรรมของผู้ที่เข้าใจผิดในเรื่องกรรม ซึ่งส่วนใหญ่แม้แต่ชาวพุทธทั่วไปก็เข้าใจผิดตามๆกันว่ากรรมมีท่วงทำนอง (ให้ผล) อย่าง “ชะตากรรม” ซึ่งมีลักษณะเฉื่อยนิ่งยอมรับแต่สภาพที่เกิดขึ้น อย่างที่พูดกันว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” แล้วก็ไม่มีการดิ้นรนต่อสู้
กรรมอย่างนั้น ไม่ใช่กรรมในความหมายที่พระพุทธเจ้าสอน
ในเรื่องการเกิดในภพชาติต่างๆ ในสังสารวัฏฏ์ จะเห็นได้จากเรื่องเล่าในชาดก ซึ่งแสดงภพชาติต่างๆ ของพระโพธิสัตว์ ล้วนแต่แสดงถึงความเพียรเพื่อเอาชนะตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ทาน รักษาศีล ฯลฯ ของพระโพธิสัตว์ล้วนแต่ต้องใช้ความเพียรเพื่อเอาชนะตัวเอง
ในคำสอนเรื่อง “สังสารวัฏฏ์” หรือการเวียนว่ายตายเกิด อันยาวนาน พระพุทธเจ้าสอนให้ยกระดับตัวเองจากภพชาติ (ภูมิ) ที่ต่ำที่เป็น “อบายภูมิ” (คือการเกิดในนรกหรือเกิดในโลกชั้นต่ำต่างๆ) เพื่อจะได้หลุดพ้นจากทุกข์ ล้วนแต่เป็นการสอนให้ใช้ความเพียรเพื่อต่อสู้ดิ้นรนไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
คำสอนเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” (หรือ “ ปัจจยาการ” หรือ “อิทัปปัจจยตา”) ซึ่งอธิบายเรื่องกรรมหรือ “เหตุผล” ที่เป็นไปในกรรม ได้อธิบายให้เห็นแม้แต่ทุกข์ที่เกิดขึ้นในระดับสังคม (ประเทศชาติ) อันรวมถึงความเป็นไปในระบอบการปกครองต่างๆว่าเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยใด เช่น กว่าจะเกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมการเมือง ย่อมมีเหตุปัจจัยอันเป็นสภาพแวดล้อมเป็นเหตุผลทั้งสิ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเองลอยๆ แสดงว่ามีการดิ้นรนต่อสู้ในสังคมอยู่ตลอดเวลา นั่นคือความเป็นไปของ “กรรม” ในสังคม
คำสอนเรื่องกรรม (ในพุทธศาสนา) จึงต่างจากกรรมในความเข้าใจของ ดร.ท่านนั้นโดยสิ้นเชิง
คิดว่า ความกดดันหรือ “อคติ” อะไรบางอย่างมากกว่าที่ทำให้นักศาสนวิทยาเข้าใจ (จากการเล่าเรียน) เรื่องกรรมผิดไปแล้วทำให้ตัวเองเดือดร้อนไปเอง