ดนตรี / รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล ถ้าจะให้นึกถึงค่ายเพลงเล็กๆบ้านเรา ที่ผลิตผลงานเพลงไม่เอาใจตลาด ซึ่งหมายรวมถึงชื่อเสียงของ “ศิลปิน” ที่เป็นผู้นำเสนอ-ถ่ายทอด หลายคนทีเดียว-ที่เอ่ยขึ้นมาแล้วมีเครื่องหมายคำถามในใจ ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ด-ธรรมรัตน์ แก้วมั่น หรือ กุ๊ก-อรสุรางค์ อุดจัง รวมไปถึง โอ๋-ชุติมา แก้วเนียม และอีกหลายต่อหลายคน แต่หากได้ฟังเสียงร้องของพวกเขาและเธอแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็น “นักร้องตัวจริง” อ้อ! รวมถึงการนำเอาเสียงเก่าๆอย่าง สวีทนุช ให้กลับมาได้รับความนิยมด้วย ล่าสุด บรรณ สุวรรณโณชิน เจ้าของค่าย ใบชาซอง ที่เป็นทั้งนักดนตรี, นักร้อง, นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ หนึ่งในผู้มีจิตใจห้าวหาญ ในการสร้างสรรค์ความแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ตามท้องตลาด ลงทุนครั้งใหญ่กับการซื้อลิขสิทธิ์เพลง เดอะ บีเทิ่ลส์ มาบันทึกเสียงใหม่ ฟังดูไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร เพราะมีการทำลักษณะนี้มานักต่อนัก มีออกมาให้ฟังกันตั้งแต่ป๊อป, ร็อค, อาร์แอนด์บี, โซล, แจ๊ซ, คันทรี, บลูส์ จนถึงคลาสสิก เรียกว่าทำกันมาครอบคลุมแทบทุกแนว แต่ บรรณ ก็ยังหา “หนทาง” ใหม่ๆให้กับการทำอัลบั้มคัฟเวอร์เพลงที่ผ่านการ “ทำใหม่” มามากมายขนาดนี้...ได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการวางคอนเซปต์เป็น “บีเทิ่ลส์ แบบไทยๆ” เพลงทั้งหมดในชุดนี้จึงมีความเป็นไทยโดดเด่น - แต่ยังคงความเคารพต่อต้นฉบับ - โดยเฉพาะตัวดนตรีที่ บรรณ เลือกใช้เครื่องไทยเป็นหลักเคียงไปกับเครื่องสากลได้ลงตัว สื่อสารสำเนียงแต่ละท้องถิ่นออกมาชัดเจน จัดประเภทง่าย ๆ เป็น “ลูกกรุง-ลูกทุ่ง-เพลงพื้นบ้าน” กลุ่มใหญ่หน่อยก็คือลูกทุ่งที่มีทั้งลูกทุ่งกลางและลูกทุ่งอีสาน-ที่อย่างหลังนี้ ก็มีสีสันแตกต่างกันออกไปอีก อย่าง “I Feel Fine” ที่แฝงกลิ่นหมอลำผสมของ รัสมี เวระนะ หรือที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อ รัสมี อีสาน โซล เช่นเดียวกับ “Norwegian Wood (This Bird Has Flown)” โดย อนิล สุวรรณโชติ ที่โทนรวมเบากว่า หรือ “Day Tripper” (เบิร์ด-ธรรมรัตน์) กับ “Oh! Darling” (กุ๊ก-อรสุรางค์) เป็นลูกทุ่งภาคกลาง เพลงแรกมาทางเพลงรำวง ฉิ่งฉาบมาครบ ส่วนเพลงหลังมาทางหวานไพเราะ วินัย พันธุรักษ์ และ สุนทรี เวชานนท์ เป็นสองนักร้องรับเชิญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดแล้ว ไม่มีข้อสงสัยอื่นใดอีกในคุณภาพเสียงและการตีความ วินัย กับเพลง “Girl” มาในทางลูกกรุงหวานๆทางถนัด ในวัย 70 กว่า เรียกว่าตัวเลขอายุไม่ใช่อุปสรรค น้ำเสียงนุ่มนวลนั้นยังคงแข็งแรงเหลือเชื่อ ขณะที่ สุนทรี มากับความเป็นล้านนาขนานแท้ใน “When I’m Sixty-four” อ่อนหวานล้ำลึกเมื่อฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องยกความดีให้กับ รังสรรค์ ราศี-ดิบ ที่จัดการทุกอย่างให้ออกมากลมกล่อมพอเหมาะพอดี ทั้งเสียงร้องที่คง “ตัวตน” ของศิลปิน ทั้งดนตรีพื้นเมืองที่สอดรับไปกับเสียงร้อง ถือเป็นเพลงเอกเพลงหนึ่งของอัลบั้มนี้ได้เลย ส่วนเพลงตัวแทนภาคใต้เป็น “Lucy in the Sky with Diamonds” โดย โอ๋-ชุติมา ที่มี สหัศ สุวรรณชล มาร้องเป็นลูกคู่ ซับซ้อนกว่าเพลงอื่นๆ เพลงในทาง “ไทยแท้ๆ” ยังมี เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ กับการขับเสภาอันเป็นลายเซ็นส่วนตัวใน “Come Together" ที่ร้องได้ดุดัน มีแรงดึงดูด สมกับเป็นเพลงเปิด (ไม่นับ “Welcome to the Beatles” อินโทร.สั้นๆโดย สวีทนุช) เพื่อนร่วมเวที เดอะ วอยซ์ อย่าง แนท-บัณฑิตา ประชามอญ อวดเสียงสวยแข็งแรงของเธอในลีลาไทยเดิมที่เนิบช้าแต่มีเสน่ห์ใน “Across the Universe” และ “Help!” เพลงปิดท้ายที่ครึกครื้นสนุกสนานกันแบบไทยแท้ๆ จริงๆ โดยวงพื้นบ้านประสานเสียงสองหนุ่มสองสาว จัดเพลงฉ่อยแบบไทยปนสากลได้อร่อยเหลือเกิน กระทรวงวัฒนธรรม หรือ การท่องเที่ยวฯ ควรพิจารณานำเพลงนี้ไปโปรโมท สิบเพลงใน The Thai Beatles ไม่ถึงกับลงตัวหรือสมบูรณ์แบบในทุกเพลง แต่อย่างน้อยที่สุด นี่ถือเป็นผลงานที่กล้าหาญที่สุดชุดหนึ่ง ที่นำเอาเพลงขึ้นหิ้งของ เดอะ บีเทิ่ลส์ มาทำใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง และทำออกมาแล้ว...ไม่อายใคร! อยากให้สนับสนุนผลงานดีๆแบบนี้กัน สนใจติดต่อได้ที่ www.baichasong.com ขายของกันดื้อๆแบบนี้แหละ