คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ / ก๊วยเจ๋ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอย่าง “คุ้มค่า” เช้าวันหนึ่งใน พ.ศ. 2524 ที่บ้านริมแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ อากาศฤดูหนาวกำลังเย็นสบาย หากมองผ่านแปลงดอกไม้เมืองหนาวสีสวยหลากชนิดที่ปลูกเรียงรายไปตามริมตลิ่ง จะเห็นสายหมอกลอยบางๆ เหนือผิวน้ำที่หน้าบ้าน ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชอบที่จะมานั่งที่ระเบียงหน้าห้องนอนชั้นบน มองลงมาที่สายน้ำและดอกไม้ พร้อมกับจิบชาจีนอุ่นๆ มองเผินๆ จะเหมือนท่านกำลังใช้ความคิดอะไรบางอย่าง ผมชอบที่จะคุยถามอะไรกับท่านในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นช่วงที่ท่านกำลังมีความสุข วันนั้นผมเลยถามท่านขึ้นว่า “อะไรคือความสุขในชีวิตของพ่อ” ท่านอมยิ้มจนเห็นลักยิ้มข้างแก้มอันเป็นเอกลักษณ์ ก่อนที่จะตอบว่า “ความสุขที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ไง” “ก๊วยเจ๋งเอ๋ย การที่เรามีชีวิตอยู่รอดได้วันแล้ววันเล่านี่แหละคือความสุข ความสุขที่จะได้ทำอะไรที่เราอยากทำในวันนี้ และความสุขที่จะได้เห็นอะไรที่ยังไม่เห็นในวันรุ่งขึ้น ต่อไปอีกวันแล้ววันเล่า” จากคำพูดตรงนี้ทำให้ผมมานึกทบทวนถึงการใช้ชีวิตของท่าน หลายปีที่ผมได้อยู่กับท่าน ผมสังเกตว่าท่านทำทุกอย่างที่ท่านอยากทำ ท่านไม่เพียงแต่แค่คิดฝัน แต่ท่านชอบที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริง และเมื่อทำได้สำเร็จท่านก็จะมีความสุข แล้วท่านก็จะแจกจ่ายความสุขเหล่านั้นให้แก่ทุกๆ คน ผ่านการพูดคุยชื่นชมในสิ่งที่ท่านได้ทำ รวมทั้งแจกจ่ายความสุขเหล่านั้นผ่านสื่อต่างๆ ที่ท่านมีอยู่ เช่น บทความ หรือการให้สัมภาษณ์ ซึ่งผมตีความเอาเองว่า นี่คือ “การเพิ่มมูลค่าของความสุข” ที่ท่านไม่เคยเก็บไว้กับตัวเพียงคนเดียว ผมรู้จักท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ผ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายสัปดาห์ จากภาพปกในฉบับปลายปี 2519 ที่ท่านกำลังชื่นชมดอกแอฟริกันไวโอเล็ต พอผมได้เข้าไปที่บ้านท่าน ท่านก็พาชมดอกไม้เหล่านั้นอย่างใกล้ชิด พร้อมกับพูดคุยถึง “ความสุข” ที่ได้จากการปลูกต้นไม้เล็กๆ เหล่านี้ ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังพาชม “เมืองหนาวจำลอง” ที่ท่านทำโรงเพาะปลูกต้นไฮยาซินธ์ ด้วยการสร้างเป็นโรงกระจกขนาดสัก 2 คูณ 4 เมตร ติดแอร์เย็นฉ่ำ แล้วเอากระถางที่มีหัวไฮยาซินธ์ฝังไว้ในดิน วางเรียงไว้บนระแนงไม้สูงเพียงเอว โรงเรือนนี้คลุมด้วยผ้าพลาสติกบางส่วน ไม่ให้กระถางโดนแสงมากนัก แล้วท่านก็อธิบายว่า ท่านอยากจะปลูกดอกไม้เมืองหนาวโดยเลียนแบบสภาพแวดล้อมกับสถานการณ์อย่างที่พืชเหล่านี้คุ้นเคย นั่นก็คือเมื่อเข้าฤดูหนาวในยุโรป ไฮยาซินธ์จะ “ลงหัว” คือฝังตัวเองอยู่ในดิน ใต้ร่มไม้ในที่ทึมๆ จนเมื่อเข้าฤดูสปริงคือใบไม้ผลิ ก็จะแทงหน่อแตกยอดออกมารับแสง และยอดนั้นก็คือพุ่มดอกอันสวยงาม สีฟ้าอมม่วงสวยหวานจับใจ ซึ่งท่นก็จำลองสภาพแวดล้อมนั่นด้วยการทำ “ห้องหนาว” คือเรือนกระจกนี้ แล้วเอาหัวไฮยาซินธ์ฝังไว้ เปิดรดน้ำให้ชุ่มวันเว้นวัน ไม่ให้แฉะเกินไป พอผ่านไปสัก 3 เดือนก็ไปร้องให้กระถางได้ยินว่า Spring is coming แล้วเปิดผ้าคลุมโรงเรือนให้รับแดดอ่อนๆ มากขึ้นทุกวันๆ สัก 7-8 วันก็จะได้เห็นช่อดอกนั้นแทงยอดออกมา ท่านบรรยายขั้นตอนและวิธีการอย่างละเอียด ด้วยใบหน้าที่อาบอิ่มเต็มไปด้วยความสุข และทุกครั้งที่ท่านอะไรได้สำเร็จ ท่านก็จะพาผู้คนที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนท่าน ร่วมชื่นชมกับความสำเร็จนั้นทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำในสิ่งที่ “ท้าทาย” อย่างการปลูกพืชเมืองหนาวในบ้านที่กล่าวมานั้น หรือเวลาที่ท่าน “ทดลอง” ทำเมนูอาหารใหม่ๆ เมื่อทุกคนได้ลองรับประทานแล้วชมว่าอร่อย ท่านก็จะพูดว่า “ยูเรก้า” คือ “สำเร็จแล้ว” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านมีความสุขมาก เมื่อได้สร้างให้คนอื่นมีความสุขร่วมด้วย ถ้าจะกล่าวไปแล้ว ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนที่ทำอะไร “ทำจริง” และทำอย่าง “ทุ่มเท” ตัวอย่างหนึ่งคือ “การทำโขนธรรมศาสตร์” ดังที่มีผู้เกี่ยวข้องเขียนถึงเรื่องนี้ไว้มากมาย โดยเริ่มจากปณิธานหรือความตั้งใจของท่านที่จะปลูกฝังสั่งสอนเรื่อง “ความเป็นไทย” ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงที่ท่านรับสอนชุดวิชาอารยธรรมไทย ระหว่าง พ.ศ. 2509 – 2515 โดยท่านได้ประสานงานกับกรมศิลปากร ขอครูโขน ครูดนตรี และครูละคร มาช่วยสอนให้กับนักศึกษา ที่ท่านคัดเลือกผู้แสดงในบทบาทต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น พระ นาง ยักษ์ หรือลิง ทั้งยังอำนวยการฝึกซ้อม ให้ใช้บ้านเรือนไทยที่ซอยสวนพลูเป็นที่ฝึกซ้อม ทั้งเลี้ยงข้าวปลาอาหาร ออกทุนรอน และสร้างแรงจูงใจผลักดัน เพราะการเล่นโขนต้องใช้ความมานะอดทนสูงมาก หลายคนโดนท่านใช้ไม้เรียวตีแขนขา ใช้ไม้เคาะจังหวะเคาะหัว เรียกได้ว่าท่านทุ่มจนสุดตัว จนกระทั่งได้คณะโขนที่เป็นมืออาชีพอีกคณะหนึ่ง ปรากฎเป็นชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประเทศไทยอยู่หลายปี (ถึงทุกวันนี้ลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็ยังช่วยกันสืบสานปณิธานของท่านนั้นไว้ ด้วยการตั้งสถาบันคึกฤทธิ์สำหรับสอนเยาวชนให้เรียนรู้และฝึกฝนในศิลปะชั้นสูงเหล่านี้ ที่รวมถึง “โขนคึกฤทธิ์” นั้นด้วย ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก ส่งลูกหลานมาเรียนปีละหลายร้อยคน ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 9 แล้วในปัจจุบัน) คงอดที่จะกล่าวถึงเรื่องการเมืองไม่ได้ เพราะนี่คือวงการที่คนไทยรู้จักท่านมากที่สุด ซึ่งการทำงานการเมืองของท่าน ท่านก็ทำด้วยความทุ่มเท “จนสุดชีวิต” เช่นกัน หลายครั้งผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมท่านต้องทุ่มเทด้วยชีวิตเช่นนั้น อย่างเช่น การ “โอบอุ้ม” ช่วยเหลือและสนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงปี 2523 – 2531 จนกระทั่งตัวเองต้องทะเลาะกับทหารบางกลุ่ม ถึงขั้นทหารกลุ่มนั้นบุกมาข่มขู่ท่านถึงที่บ้าน และหากจะย้อนไปครั้งที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี (ที่ผมยังไม่ได้มาอยู่ที่บ้านสวนพลู แต่มีพี่ๆ ที่เคยเป็นเลขานุการของท่านเล่าให้ฟัง) ก็มีเรื่องเล่าว่าท่านต้องอดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างมาก โดยท่านเคยพูดว่า ใครที่ว่าเป็นคนดีไม่มีประวัติด่างพร้อยนั้น ขอให้ลองมาเป็นนักการเมืองดู เดี๋ยวก็จะถูกขุดคุ้ยอะไรๆ ออกมา “จนไม่เหลือชิ้นดี” ในช่วงที่ท่านป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ท่านเคยเปรยๆ กับคนใกล้ชิดอย่างพวกผมว่า “มาถึงวันนี้ฉันก็มีความสุขความพอใจมากมายแล้ว เพราะฉันได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ตายไปก็ไม่เสียดาย เกิดใหม่ก็จะทำอย่างนี้” แต่ว่าสังคมไทยเสียดายท่านมาก และหวังว่าท่านมาเกิดใหม่อีกครั้ง