สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จัดเป็นหนึ่งในห้าสุดยอดพระปิดตาของเมืองไทย เป็นที่สุดแห่งความนิยมที่นักสะสมพระเครื่องใฝ่หา ชนิดที่เรียกว่า ของแท้ๆ หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเช่นกัน ปัจจุบันค่านิยมอยู่ที่เลขหกหลักถึงเจ็ดหลัก เป็นรองแค่พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ แต่พุทธคุณไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ของปลอมนั้นปัจจุบันมีเยอะมากและฝีมือค่อนข้างดีอีกด้วย
ผู้สร้าง
หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม เป็นชาวเมืองนนทบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2359 ในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นบุตรของ นายนาค และนางจันทร์ ชาวตำบลบ้านแหลมใหญ่ฝั่งใต้ อายุได้ 22 ปี อุปสมบทที่วัดบ่อ ต.ปากเกร็ด ต่อมาย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี เพื่อศึกษาด้านพระปริยัติธรรมและแปลพระธรรมบท แล้วย้ายไปจำพรรษาวัดประยุรวงศาวาส จนเมื่อญาติโยมมานิมนต์ให้กลับภูมิลำเนา ท่านจึงมาครอง ‘วัดสว่างอารมณ์’ ซึ่งต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จทอดพระเนตรเห็นสะพานสูงข้ามคลองหน้าวัด ได้ประทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสะพานสูง”
หลวงปู่เอี่ยม เป็นพระเกจิร่วมสมัยกับพระเกจิชื่อดังหลายรูป อาทิ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี), หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน , กรมพระยาปวเรศฯ วัดบวรนิเวศวิหาร, หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย, และ หลวงพ่อเอี่ยม วัดหนัง เป็นต้น ท่านเป็นผู้มีวิทยาอาคมเข้มขลังและมีชื่อเสียงโด่งดังด้านวิปัสสนาธุระกัมมัฏฐาน มีวาจาสิทธิ์ มักน้อย สันโดษ ทั้งเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและเจ้านายผู้ใหญ่ในพระนคร มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อันเป็นที่มาของการสร้างวัตถุมงคลต่างๆ โดยเฉพาะ ‘พระปิดตา และ ตะกรุดโทนมหาโสฬสมงคล’ ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2439 รวมอายุได้ 80 ปี 59 พรรษา ปัจจุบัน ‘รูปหล่อเท่าองค์จริงของท่าน’ ประดิษฐานหน้าพระอุโบสถ ซึ่งผู้ศรัทธาจากทุกสารทิศยังคงแวะเวียนมากราบสักการะและขอพรอยู่เป็นประจำ
เนื้อหามวลสาร
มวลสารที่ใช้เป็นมวลสารที่หลวงปู่เอี่ยมเก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมากระหว่างเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นพวกว่านและรากไม้ที่ทรงคุณทางเมตตามหานิยม นำมาบดผสมกับเนื้อผงพุทธคุณที่มาจากการลบพระคาถาพระยันต์อิติปิโส พระยันต์ไตรสรณคมน์ และพระยันต์โสฬสมหามงคล สีสันวรรณะจะออกเป็นสีมะขามเปียก มีความหนึกนุ่ม เมื่อส่องดูเนื้อจะเห็นว่านดอกมะขามซึ่งอาจจะเป็นชาดสีแดงๆ กระจายอยู่ทั่วองค์พระ พบเนื้อสีขาวบ้างแต่มีน้อย ลักษณะจะขาวนวลเหมือนผงน้ำมันแต่ไม่เยิ้ม มีคราบขาวกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อทำเป็นองค์พระแล้วมักจะทาหรือชุบน้ำรักอีกชั้นหนึ่ง ด้วยสูตรรักของท่านเอง
พุทธลักษณะและเอกลักษณ์แม่พิมพ์
รูปแบบพิมพ์ทรงนั้นท่านจะสร้างขึ้นเองเช่นกัน ลักษณะเป็นพระปิดตาแบบลอยตัว พระประธานประทับนั่ง ปางสมาธิราบ พระหัตถ์ปิดพระเนตร มีพบเป็นครึ่งซีกบ้างแต่น้อย ส่วนขนาดก็มีเล็กบ้างใหญ่บ้าง โดยส่วนมากจะออกใหญ่และล่ำสัน ซึ่งดูงดงามไปอีกแบบ แบ่งได้เป็น 2 พิมพ์ คนรุ่นเก่านิยมเรียกว่า “พิมพ์จุฬาใหญ่” และ “พิมพ์จุฬาเล็ก” แต่วงการพระเครื่องเรียก “พิมพ์ชะลูด” และ “พิมพ์ตะพาบ”
“พิมพ์ชะลูด” เป็นพระปิดตารุ่นแรก มีความงดงามและจัดเป็นพิมพ์นิยม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อนำปัจจัยมาสร้างพระอุโบสถ ลักษณะสูงเล็กและเพรียวกว่า จุดสำคัญให้สังเกตที่พระหัตถ์ที่ยกปิดพระเนตร ถ้าใช้กล้องส่องดูจะเห็นรอยนิ้วพระหัตถ์ และยกข้อพระกรขึ้นสูงกว่า, พระกัประ (ข้อศอก) จะเป็นลำเว้าเข้าหาบั้นพระองค์, พระอุทร (ท้อง) พลุ้ย, ปรากฏพระนาภี (สะดือ), พระบาทขวาทับพระบาทซ้ายในลักษณะเฉียงขึ้นด้านบนเล็กน้อย ด้านหลังจะเป็นหลังเรียบและโค้งมน ดูเผินๆ เหมือนตุ๊กตา ส่วน “พิมพ์ตะพาบ” องค์จะล่ำสันเทอะทะดูใหญ่คล้ายตะพาบน้ำ พระกัประ (ข้อศอก) ชิดกับพระเพลา ซึ่งจะกว้างกว่าพิมพ์ชะลูด
ข้อสำคัญอีกประการ คือ พระปิดตาของหลวงปู่เอี่ยม จะเป็น “พิมพ์ประกบหน้าหลัง” จึงปรากฏตะเข็บด้านข้างให้เห็นเกือบทุกองค์ ซึ่งมักจะปริหรือแตกกะเทาะด้วยกาลเวลา
พุทธคุณ
เด่นในด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ และแคล้วคลาดคงกระพันชาตรี ป้องกันคุณไสยและภูตผีปีศาจ
การพิจารณา
ถ้านำพระปิดตาหลายๆ องค์มาวางเรียงกัน พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมจะแลดูสวยงามได้สัดส่วนกว่า องค์พระมีลักษณะล่ำสัน สมส่วน พระเพลากว้าง พระนลาฏ (หน้าผาก) มีรอยบุบทุกองค์ นอกจากนี้ การดูเนื้อถือเป็น “จุดตาย” ที่สำคัญยิ่ง เนื้อในจะเป็นเนื้อสีน้ำตาลที่มีน้ำตาลอ่อนแก่เท่านั้น ไม่มีเนื้อขาวโดยเด็ดขาด เนื้อองค์พระแลดูหยาบเห็นมวลสารชัดเจน หลวงปู่เอี่ยมท่านขึ้นชื่อทางวิปัสสนาธุระ หรือกัมมัฏฐาน กิตติศัพท์ท่านลือเลื่องไปทั่วทั้งพระปิดตาและตะกรุด ก่อนจะละสังขารในปลายปี พ.ศ.2439 ท่านได้สั่งบรรดาศิษย์ไว้ว่า ถ้าผู้ใดมีเรื่องเดือดร้อนให้นึกถึงนามของท่าน และออกชื่อท่าน ความเดือดร้อนก็จะถูกขจัดปัดเป่าไป ซึ่งสานุศิษย์ทั้งหลายได้อาราธนานามของท่านเป็นเกราะคุ้มภัยรอดพ้นอันตรายต่างๆ จนกล่าวขานกันสืบมาจนถึงปัจจุบันทีเดียวเชียวครับผม