ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : สัปดาห์นี้ชวนไปตามรอยนวดแผนไทย เดินดูรูปปั้นฤๅษีดัดตน แผ่นภาพแผนนวด ตำรายาจารึกแผ่นศิลาในวัดโพธิ์ อย่างที่รับรู้กันทั่วไป วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ข้างพระบรมมหาราชวัง เป็นแหล่งเล่าเรียนสรรพวิชาความรู้ภูมิปัญญาไทยหลายแขนงของมหาชน เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงรวบรวมตำรับตำราต่างๆ จารึกบนแผ่นศิลาประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ โดยเฉพาะความรู้ด้านการแพทย์ โปรดเกล้าฯ ให้สืบเสาะหาตำรายา ตำราแพทย์ตามพระราชาคณะ ข้าราชการ ตลอดจนราษฎรมาจารึกไว้บนแผ่นศิลาจารึก มี 4 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ วิชาฤๅษีดัดตน เวชศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และแผนนวด เฉพาะแผนนวดมีจำนวน 60 ภาพ (โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ 2537) ได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักฐานองค์ความรู้การนวดไทยที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากที่สุดในปัจจุบัน อีกทั้ง นวดไทย (NUAD THAI) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Intangible Cultural Heritage (ICH)) ยูเนสโก ประจำปี 2019 ในกลุ่ม Representative List of ICH กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)นำเสนอ และนวดไทยยังมีชื่อเสียงขจรไกลไปในต่างแดน ทั้งในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความนิยมเดินทางมาใช้บริการนวดจำนวนมาก ที่สมัครเรียนนวดแผนไทยในสถานที่ต่างๆ มีจำนวนไม่น้อย “โดยเฉพาะที่วัดวัดโพธิ์ มีผู้สำเร็จวิชานวดแผนไทยตำรับวัดโพธิ์ไปแล้วมากกว่า 2 แสนคน จาก 145 ประเทศ” อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าว นอกจากนี้ยังมีหมอนวดพื้นบ้านทั้งประเทศรวมกว่า 25,000 คน ไม่ว่านวดไทย นวดพื้นบ้าน ล้วนมีความเป็นศาสตร์และศิลป์ มีลักษณะเฉพาะตัวของการนวด กดจุด คลึง บีบ จับ ดัด ดึง ใช้ยาสมุนไพรทาถู อบ ประคบบนร่างกายเพื่อให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น นวดไทยเป็นผลิตผลภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ดั้งเดิมผสมผสานระหว่างความรู้ท้องถิ่นกับการแพทย์ ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านาน ในด้านคัมภีร์ตำราการนวดไทย จากข้อมูล “นวดไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” สวธ. เท่าที่มีการค้นพบตำราดั้งเดิมที่เป็นหลักขององค์ความรู้การนวดไทย เป็นที่ยอมรับของครูบาอาจารย์หมอนวดไทยในปัจจุบัน คือ ตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11 ของพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) เจ้าเมืองจันทบูร ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีเนื้อหาเกี่ยวข้องในหัวข้อ ปัตฆาฏ กล่อน และกล่าวเส้นสิบ ไม่ทราบปีที่สร้างขึ้นของต้นฉบับ แต่จัดพิมพ์เป็นหนังสือในปี พ.ศ. 2456 จารึกตำรายาวัดราชโอรสาราม ราชวรมหาวิหาร สมัยรัชกาลที่ 2 สร้างขึ้น พ.ศ. 2364 มีแผ่นจารึกที่ 45 เป็นแผนนวด ศิลาจารึกคัมภีร์แผนนวดวัดพระเชตุพนฯ สมัยรัชกาลที่ 3 สร้างขึ้น พ.ศ. 2375 จำนวน 60 ภาพ เป็นภาพแผนหงาย 30 ภาพ และแผนคว่ำ 30 ภาพ สมุดไทยดำแสดงภาพและโคลงฤๅษีดัดตนแก้โรคต่างๆ 80 ภาพ สมัยรัชกาลที่ 3 สร้างขึ้น พ.ศ. 2381 ชมคลิป https://www.youtube.com/watch?v=toSyBtjLkmA&t=56s ปัจจุบันนวดไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพและบำบัดโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทย ในการสาธารณสุขมูลฐานของประเทศ ทั้งช่วยสร้างอาชีพและธุรกิจบริการการนวดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนทางด้านวัดโพธิ์เป็นแหล่งสรรพวิชาความรู้การนวดแผนไทยดั้งเดิมผ่านแผ่นภาพ ตำรับตำรายาต่างๆ จารึกบนแผ่นศิลาในศาลาราย และรูปปั้นฤๅษีดัดตน ประดับตามเขามอในบริเวณวัด นวดไทยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทยและของมนุษยชาติ