วันที่ 19 ธ.ค.62 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม คกก.เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.);สศช. ห้องประชุม 521 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ. รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนาย ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พลเอกประวิตร กล่าวว่า ตามที่ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๖๖/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ มอบหมายและมอบอำนาจให้ผมปฏิบัติหน้าที่แทนในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ตลอดจนการดำเนินการในระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ​​ สำหรับประเทศไทยยังคงมีประเด็นท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาขยะทะเล ตลอดจนการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ล้วนต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ อาทิ เน้นการพัฒนาฐานการผลิตให้เข็มแข็ง ในภาคเกษตรกรรม มีการเตรียมพร้อมกำลังแรงงานทุกกลุ่ม. การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน มีการพัฒนาเครือข่ายและระบบบริการสุขภาพระดับจังหวัดที่มีคุณภาพ สร้างความเสมอภาคด้านการศึกษา พัฒนาชุมชน และดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ที่ประชุมวันนี้ มีการพิจารณาร่างแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยที่สำนักงานฯ เสนอ และมอบหมายให้สำนักงานฯ จัดทำรายละเอียดแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย โดยประสานร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพที่ได้รับมอบหมาย. รวมถึงพิจารณาแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ตามที่สำนักงานฯ เสนอ และมอบหมายให้สำนักงานฯ ดำเนินการร่วมกับ ๖ จังหวัดนำร่องใน ๖ ภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๑ แห่ง รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ประสานและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการกับ สำนักงานฯ และสนับสนุนการดำเนินงาน ในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ ต่อไป. พร้อมหารือ การปรับปรุงคณะอนุกรรมการ ๔ คณะ ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนา ที่ยั่งยืน ตามที่สำนักงานฯ เสนอ และมอบหมายให้สำนักงานฯ เร่งจัดทำร่างคำสั่งคณะกรรมการฯ เสนอตามขั้นตอน ต่อไป ความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี พ.ศ.2562 นับแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา เครือข่ายการแก้ปัญหาเพิ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network : SDSN) และมูลนิธิแบร์เทลส์มันน์ ได้ร่วมจัดทำรายงานรายปี “SDG Index and Dashboard” เพื่อรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละประเทศ โดยใช้ตัวชี้วัดที่ครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายหลัก แบ่งเป็นข้อมูลที่เป็นทางการจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก OECD, UNICEF, WHO และข้อมูลไม่เป็นทางการที่ได้จากการสำรวจเองของหน่วยงานวิจัยต่างๆ เช่น World Data Lab, Gallup, Nationnal Science Founation เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 162 ประเทศทั่วโลก ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561 รวม 19 อันดับ (เดิมอันดับที่ 59 จาก 156 ประเทศ) และไทยเป็นอันดับที่หนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 54 สิงคโปร์ อันดับที่ 66 และมาเลเซียอันดับที่ 68 ตามลำดับ ทั้งนี้จากข้อมูลในส่วน SDG Index ของประเทศไทย พบว่า ในภาพรวมมีคะแนนที่ดีขึ้น (12 เป้าหมายหลัก)