ควบคุ๋ ม.มหิดล และม.เกษตรศาสตร์ ขณะได้คะแนนอันดับ 1 ด้านจัดการพลังงาน-จัดการขยะ-การเรียนการสอนและวิจัย จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของโลก หรือ UI Green Metric World University Ranking 2019 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับที่ 84 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของมหาวิทยาลัยไทย โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ใน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการจัดการพลังงาน ด้านการจัดการขยะ และด้านการเรียนการสอนและการวิจัย สำหรับปีนี้มีมหาวิทยาลัย 780 แห่งทั่วโลก ที่เข้าร่วมการจัดอันดับ และมีมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วม 37 แห่ง ในภาพรวมอันดับของมหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะสามอันดับแรกคือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลคะแนนและอันดับที่ขยับขึ้นจากปีก่อน ทั้งนี้ Green Metric World University Ranking มีเกณฑ์ชี้วัดแบ่งออกเป็น 6 หมวด ได้แก่ การจัดการพื้นที่ในมหาวิทยาลัย เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่ซึมซับน้ำ, การจัดการพลังงาน รวมไปถึงเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การจัดการขยะ, การจัดการน้ำ, การขนส่ง, การเรียนการสอน การวิจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กอปร ลิ้มสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มภารกิจการจัดการสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การที่จุฬาฯ ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ใน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการจัดการพลังงาน ด้านการจัดการขยะ และด้านการเรียนการสอนและการวิจัย เป็นผลมาจากความสำเร็จในการดำเนินการด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการจัดการพลังงาน เน้นใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน Renewable Energy เรื่องระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีทางเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น รถโดยสารภายในจุฬาฯ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด หรือการส่งเสริมให้คนเดินเท้าด้วยการทำทางเดินมีหลังคาคลุม ทั้งนี้ ในด้านการจัดการพื้นที่ในมหาวิทยาลัย จุฬาฯ ค่อนข้างเสียเปรียบเพราะเป็นมหาวิทยาลัยใจกลางเมือง ทำให้มีข้อจำกัดอย่างมากในการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียว หรือด้านการจัดการน้ำ ก็มีข้อจำกัดด้วยเรื่องของพื้นที่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดด้านกายภาพและพื้นที่ แต่ยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืนต่อไป โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับในเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วม ของคนในจุฬาฯ และชุมชนรอบๆ ให้มากขึ้น เน้นการสร้างจิตสำนึกของคนในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิต ซึ่งเรื่องของมหาวิทยาลัยสีเขียวหรือมหาวิทยาลัยยั่งยืนไม่ควรถูกจำกัดแค่เรื่องกายภาพอย่างเดียว แต่ควรขยายไปยังเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ และอื่นๆ ที่ครอบคลุมบริบทของความยั่งยืนด้วยเช่นกัน