ไม่พลิกโผสภาคองเกรสที่เดโมแครตกุมเสียงข้างมาก ผ่านมติถอดถอนทรัมป์พ้นตำแหน่งผู้นำลุงแซม จากกรณียูเครนเกต ก่อนส่งไม้ต่อให้สภาซีเนตลงมติ ม.ค.ปีหน้า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส เพื่อพิจารณาการถอดถอนประธานาธิบดี หรืออิมพีชเมนต์ ต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ให้ออกจากตำแหน่ง เมื่อช่วงค่ำของวันพุธที่ผ่านมา ตามวันเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี ตามวันเวลาในไทย ภายหลังจากคณะกรรมาธิการด้านตุลาการแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านการเห็นชอบในสองญัตติด้วยกันได้แก่ 1.การใช้อำนาจไปในทางมิชอบ และ 2. ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติให้ถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง รายงานข่าวแจ้งว่า รายละเอียดของการลงคะแนนเพื่อถอดถอนข้างต้น ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติ 230 ต่อ 197 เสียง เห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ กระทำความผิดในญัตติข้อที่ 1 คือ การใช้อำนาจไปในทางมิชอบ ส่วนญัตติข้อที่ 2 คือ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา มีมติ 229 ต่อ 198 เสียง ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส ซึ่งมีจำนวนที่นั่งสิ้น 435 ที่นั่ง นั้นแบ่งเป็น ส.ส.ของพรรคเดโมแครต ครองเสียงข้างมาก ด้วยจำนวน 233 เสียง ขณะที่ ส.ส.ของพรรครีพับลิกัน มีจำนวน 197 เสียง โดยผลของมติข้างต้น ก็ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ ที่ถูกสภาคองเกรสมีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ต่อจากอดีตประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน เมื่อปี 2411 จากกรณีการปลดรัฐมนตรีที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเขา และอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน จากข้อกล่าวหาชู้สาวกับ น.ส.โมนิกา ลูวินสกี เมื่อปี 2542 อย่างไรก็ตาม อดีตประธานาธิบดีทั้งสองคน รอดพ้นจากการถูกถอดถอนในกระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา หรือสภาซีเนต รายงานข่าวเผยว่า หลังจากที่สภาคองเกรสมีมติดังกล่าว ก็จะยื่นเรื่อให้ทางวุฒิสภา หรือสภาซีเนต ได้ประชุมพิจารณาต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน ม.ค.ปีหน้า ท่ามกลางความคาดหมายว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ จะรอดพ้นจากการถูกถอดถอนในขั้นตอนการพิจารณาของสภาซีเนต เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาของพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก สำหรับ การถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์มีขึ้น ภายหลังจากที่เขาถูกข้อกล่าวหาได้โทรศัพท์ไปเรียกร้องต่อประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ให้เร่งดำเนินการรื้อฟื้นการสอบสวนในคดีที่นายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาทุจริตในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอของบริษัทบูริสมา ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานในยูเครน แต่คดีดังกล่าวได้เงียบหายไปเพราะนายฮันเตอร์ ได้รับช่วยเหลือจากรองประธานาธิบดีโจ ผู้เป็นบิดา ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ทางประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กดดันต่อประธานาธิบดีเซเลนสกี ให้เร่งรื้อฟื้นคดีด้วยการข่มขู่ว่าจะตัดเงินช่วยเหลือทางการทหาร ที่สหรัฐฯ ให้แก่ยูเครนปีละ 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย