งามไส้!! สต๊อก 3 สารเคมีอันตราย พบบวม บานทะโร่ หลังคกก.วัตถุอันตราย แทงกั๊กไม่แบน เตรียมตั้งกก.สอบสต๊อก ยกขึ้นบนดิน วันที่ 18 ธ.ค. แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีรายงานว่า น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กำลังหามาตรการที่จะแก้ไขปัญหาสารเคมีที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะ 3 สารเคมีอันตรายที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่ชัดเจนในเรื่องมติการแบน เพื่อควบคุมการผลิต การจำหน่าย เพื่อให้สารเคมีอันตรายได้รับการควบคุม ป้องกันสารเคมีไร้คุณภาพวางเกลื่อนประเทศ กระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยสาเหตุสำคัญมาจากการตรวจสอบสต๊อกสารเคมีของกรมวิชาการเกษตรที่รายงานต่อคณะกรรมการวัตถันตรายที่ผ่านมา 2 ครั้ง และการตรวจสอบสต๊อกล่าสุด ไม่นิ่งและพบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นที่ผ่านมา เอกชนได้มีการขออนุญาตส่งออกประมาณ 2 พันตัน แต่ตัวเลขกลับไม่ลดลง ทำให้ขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าการทำงานของกรมวิชาการเกษตรมีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติการตามกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะการจำกัดการใช้สารและการควบคุมการจำหน่ายตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ พ.ค. 2562 ที่ให้มีการจำกัดการใช้ ต้องขึ้นทะเบียนร้านจำหน่ายและผู้ซื้อต้องมีใบขึ้นทะเบียนประสงค์ที่จะใช้สารเคมีกล่าว “สต๊อกสารเคมี ดิ้นได้ ทำให้ทุกฝ่ายงงกันมาก เพราะตัวเลขสต๊อกเมื่อ 22 ต.ค. 62 และ 27 ต.ค. 62 ก็ระบุว่ามีสต๊อกประมาณ 23,000 ตันเท่านั้น จากสต๊อกจำนวนดังกล่าว คณะกรรมการวัตถุอันตรายคาดว่า จะใช้หมดประมาณ 6 เดือน แต่ตัวเลขล่าสุด ธ.ค. กลับมีรายงานว่ากรมวิชาการเกษตรระบุว่ามี 24,000 ตัน และก่อนหน้าก็มีการขอส่งออกไปเกือบ 2 พันตัน หากคิดง่ายๆ สต๊อกไม่ควรจะเหลือเกิน 21,000 ตัน ด้วยซ้ำไป ทำให้ผู้บริหารในกระทรวงเกษตรฯหลายคนเริ่มไม่สบายใจ เพราะตัวเลข 23,000 ตันเป็นตัวเลขที่รายงานต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ควบคุมและอนุญาตนำเข้าสารเคมีของประเทศ ทำให้กระทบต่อความเชื่อถือของกระทรวง และภาพลักษณ์ทางความน่าเชื่อที่ลดลง และสุ่มเสี่ยงที่จะโดนร้องเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้อาจต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนการรายงานสต๊อกสาร 3 ตัว ”แหล่งข่าว กล่าว ทั้งนี้ แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ปริมาณการครอบครองวัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เมื่อ 11ธ.ค. 62 กรมวิชาการรายงานว่ามีจำนวน 24,930 ตัน จากร้านค้าทั่วประเทศ 14,075 แห่ง แบ่งเป็น พาราควอต 11,439 ตัน ไกลโฟเซต 11,870 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 1,620 ตัน