ฉลองครบรอบ 60 ปี ด้วยเอไอ ประยุกต์ใช้กับแพทย์ฉุกเฉิน ใช้เวลาแค่ 1-3 นาที ประเมินความเสี่ยง-รุนแรง ลดการสูญเสีย แบ่งเป็น 3 ระดับสี รองรับ 25 กลุ่มอาการฉุกเฉิน ตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มระดับโลก นำร่องที่ทดลองใช้ที่จ.สระแก้ว เตรียมประสานติดตั้งระบบใช้กับศูนย์เอราวัณของกทม. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.62 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะแพทยศาสตร์ เปิดตัว “นวัตกรรมระบบ AI สำหรับการคัดกรองโรคและการประยุกต์ใช้สำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน” (AI Assistive Platform for Emergency Medical Services) หรือ AIEMS ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า โครงการวิจัย “นวัตกรรมระบบAIสำหรับการคัดกรองโรคและการประยุกต์ใช้สำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน” (AI Assistive Platform for Emergency Medical Services:AIEMS) โดยระบบดังกล่าวจะประมวลผลเป็นอัลกอริทึม (กระบวนการแก้ปัญหาที่สามารถอธิบายออกมาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน) ซึ่งจะแปลงสัญญาณเสียงพูดหรือความรู้สึกมาเป็นตัวอักษร เพื่อประเมินความเสี่ยงหรือความรุนแรง และส่งต่อไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน เพื่อจัดเตรียมรถฉุกเฉินออกไปรับผู้ป่วยในเวลาอันรวดเร็วทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สจล.กล่าวว่า นวัตกรรม AIEMS เป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดมาจากโครงการระบบไฟจราจรอัฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้รางวัลจากการประกวดนวัตกรรมระดับโลกต่างๆ โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนข้อมูลและเทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว และโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี จากข้อมูลที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้เปิดเผยสถิติในขั้นตอนการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจากจุดเกิดเหตุเพื่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพบว่ายังล่าช้าโดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตต้องเสียชีวิต ช่วงก่อนถึงโรงพยาบาลมากกว่าร้อยละ 20 ระบบ AIEMS ที่พัฒนาขึ้นมาสามารถลดเวลาในขั้นตอนคัดกรองอาการผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดเวลารอคอย และลดอัตราสูญเสียอันเกิดจากการเสียชีวิตระหว่างการเดินทางไปโรงพยาบาลจากเดิมที่ร้อยละ 20 ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม ผู้จัดการโครงการวิจัย AIEMS) และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า ระบบ AIEMS ทำงาน 3 ประการคือ เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แชร์ข้อมูลให้กับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลลดเวลารอคอยของผู้ป่วย โดยระบบ AIEMSจะประมวลอาการและคัดกรองผู้ป่วยจากเดิมที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุฉุกเฉินเป็นผู้จดประวัติหรือสอบถามอาการเบื้องต้น แต่หากเป็นระบบ AIEMS จะแปลงสัญญาณจากสัญญาณเสียงพูดเป็นตัวอักษร ซึ่งสามาถลดในขั้นตอนนี้เหลือเพียง 1-3 นาทีเท่านั้น จากปกติที่ต้องใช้ 3-5 นาที จากนั้นระบบ AIEMS จะนำส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่รถฉุกเฉิน เพื่อจัดเตรียมรถฉุกเฉินที่อยู่ใกล้และเลือกรถฉุกเฉินที่เหมาะกับอาการของผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น 3 ระดับสี ได้แก่ สีแดงผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สีเหลืองผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน และสีเขียวผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง พร้อมกันนี้ ระบบจะนำส่งข้อมูลให้กับโรงพยาบาลปลายทาง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย ปัจุบันระบบ AIEMS สามารถคัดกรองและประมวลผล 25 กลุ่มอาการโรคฉุกเฉิน นอกจากนี้ ระบบยังประยุกต์ใช้กับการคัดกรองและประมวลผลโรคทั่วไปได้อีกด้วย อาทิ โรคเบาหวาน ปวดหัว และเป็นไข้ เป็นต้น นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ สจล.ยังพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ AIEMS อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการแปลงสัญญาณเสียงพูดภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษาอีสาน ภาษาใต้ ภาษาเหนือ ให้เป็นเป็นตัวอักษร รวมถึงภาษาอังกฤษและภาษาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มระดับโลก ซึ่งจะทำให้คณะแพทยศาสตร์ สจล. ก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ระบบ AIEMSจะนำร่องทดลองใช้ในจังหวัดสระแก้วเป็นแห่งแรก โดยติดตั้งภายในศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดสระแก้ว ควบคู่กับนำระบบไฟจราจรอัฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (iAmbulance) ที่นำไปติดตั้งทางร่วมแยกกว่า 20-30 แห่งทั่วจังหวัด เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ และให้เกิดการใช้งานจริง ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ สจล.จะร่วมกับศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ติดตั้งระบบ AIEMS มาใช้กับรถฉุกเฉินในสังกัด กทม. ซึ่งอยู่ระหว่างประสานงาน