วันที่ 16 ธันวาคม 2562 รร.พูลแมน คิง เพาเวอร์ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ โดย คุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์ และประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ในการก่อสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี บนพื้นที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย จำนวน 150 ไร่ งบประมาณในการสร้างทั้งสิ้น 500 ล้านบาท โดยภายในพิธีได้รับเกียรติจาก คุณธนศักดิ์ สุระประเสริฐ อุปนายกฝ่ายสื่อสารองค์กรสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ, คุณ วิทยา เลาหกุล อุปนายกฝ่ายพัฒนาเทคนิค สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ, พล.ร.อ.นาวิน ธนเนตร สภากรรมการ คุณธวัช อุยสุย สภากรรมการ, พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน โฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ,คุณพาทิศ ศุภะพงศ์ รองเลขาธิการ(ฝ่ายต่างประเทศ), เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายคลับ ไลเซนซิง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ พร้อมด้วยผู้สนับสนุน นักฟุตบอลทีมชาติไทย อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า ในฐานะนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ขอเป็นตัวแทนแฟนบอลไทยและคนไทยทั้งประเทศ ขอบคุณกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ สนับสนุนโครงการนี้ พร้อมด้วยการนำประสบการณ์ องค์ความรู้ เทคโนโลยี จากผู้เชี่ยวชาญที่บริหารงานในสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ และต้นแบบจากประเทศอังกฤษ เพื่อวางรากฐานและพัฒนาวงการฟุตบอลไทยภายในศูนย์ฝึกแห่งนี้ โดยจะมีแผนการทำงานทั้งระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งเป็นที่มาของแผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติระยะยาว 20 ปีที่มีความสำคัญทุกด้าน เพราะการพัฒนาฟุตบอลไม่ใช่มีเพียงเรื่องในสนามเท่านั้น องค์ประกอบทุกด้านมีความ สำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์การกีฬา โภชนาการ ไปจนถึงบุคลากร ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน แต่การจะพัฒนา ทุกอย่าได้เราต้องมีจุดศูนย์กลางที่เรียกว่า ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ที่ครบวงจรและทันสมัยก่อน ซึ่งประเทศไทยยังขาดตรงนี้ "ที่ผ่านมานั้น ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ในทุกรุ่นอายุ ต้องทำการเก็บตัวฝึกซ้อมในสถานที่ ที่มีบริเวณจำกัด โดยบ่อยครั้งต้องทำการเช่าที่พัก และสนามซ้อมที่คุณภาพไม่เหมาะสม เนื่องจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ไม่มีศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลที่สามารถรองรับ และสร้างสภาพแวดล้อมให้แก่นักกีฬาฟุตบอลในพื้นที่ส่วนตัว เพื่อทำการฝึกซ้อม ฟื้นฟูร่างกาย รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์การกีฬา และศูนย์ข้อมูเพื่อวิเคราะห์สถิติเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาศักยาภาพของนักกีฬาทีมชาติไทย ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ได้มีศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลและได้ใช้ประโยชน์มาหลายปีแล้ว ซึ่งทำให้ฟุตบอลในประเทศนั้นๆ พัฒนาขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน" นายกสมาคมฟุตบอลฯ กล่าวว่า ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับนั้นมีมากมาย ความเป็นส่วนตัวในการฝึกซ้อม เก็บตัว บรรยากาศที่ทำให้นักฟุตบอลได้มีสมาธิอย่างเต็มที่ และสามารถรองรับทีมชาติทุกๆ ชุด ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนสนามฝึกซ้อมอย่างน้อย 5-8 สนาม ทำให้รองรับการฝึกซ้อมต่อเนื่องได้ มีที่พัก ห้องอาหาร ห้องประชุม ห้องรับรอง ห้องฝึกสมรรถภาพต่าง ๆ ที่ครบครัน และเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ศูนย์ฝึกฟุตบอลยังสามารถเป็นพื้นที่จัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนต่าง ๆ ในช่วงที่ไม่มีทีมชาติมาใช้งาน เพื่อให้มีกิจกรรมฟุตบอลเกิดขึ้น ง่ายต่อการบริหารจัดการ มากกว่าการไปเช่าพื้นที่ หรือ โรงแรมที่เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ "ศูนย์ฝึกฯแห่งนี้ จะถูกนำไปใช้หลายวัตถุประสงค์ เพื่อการพัฒนาฟุตบอลไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ในระดับรากหญ้า, เยาวชน, ผู้ฝึกสอน, ผู้ตัดสิน, นักกายภาพบำบัด, นักเวชศาสตร์ ,นักวิทยาศาสตร์การกีฬาฟุตบอล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นสถานที่เก็บตัวของนักกีฬาฟุตบอล, ฟุตซอล และฟุตบอลชายหาดทีมชาติไทยทุกชุด ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย และสนามฟุตบอลหลากหลายประเภท เพื่อให้การเตรียมทีมมีความพร้อมมากที่สุด รวมถึงจะมีรายการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์ในระดับประเทศ เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฟุตบอล ที่มีการนำเสนอแบบร่วมสมัย รวมถึงสถานที่สัมมนา สำหรับหน่วยงานภายนอก และเป็นที่พักสำหรับพักผ่อนหย่อนใจให้กับบุคคลทั่วไป ในวาระอื่นๆด้วยเช่นกัน"